ชมศิลปะวัดพม่า

โดย จักรกฤษณ์ สัณฑมาศ  - 13 ส.ค. 2542




ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชากรที่นับถือศาสนาหลากหลายศาสนา อาทิ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสราม ฯลฯ แต่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาพุทธ อาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดทางศาสนาพุทธ ซึ่งในศาสนาพุทธยังมีการแบ่งนิกายออกเป็น 2 นิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุต ในแต่ละนิกายก็ได้เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธศาสนิกชนมีความเลื่อมใสศรัทธา ได้ร่วมกันสร้างพุทธสถานที่มีความงดงามมากมายแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย วัดต่าง ๆ มีเป็นจำนวนนับร้อยนับพันแห่ง วัดในแต่ละพื้นที่ก็มีศิลปกรรมที่แตกต่างกันออกไป ถ้าท่านได้มาในแถบภาคเหนือของประเทศก็จะพบกับวัดที่ใช้ศิลปกรรมแบบชาวเหนือและศิลปกรรมแบบพม่า ซึ่งศิลปกรรมแบบพม่านี้มีความสวยงามมาก วัดในประเทศไทยที่ใช้ศิลปกรรมแบบพม่ามีทั้งสิ้น 31 แห่ง จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการสร้างวัดแบบศิลปกรรมพม่าถึง 2 แห่ง คือวัดศรีชุม และวัดศรีรองเมือง ซึ่งเป็นวัดที่สวยงามมาก ตั้งอยู่ใจกลางตัวเมืองลำปาง สามารถที่จะเข้าชมได้สะดวกสบาย


วัดศรีชุม

วัดศรีชุม ตั้งอยู่ที่ 198 ถนนทิพย์วรรณ สี่แยกศรีชุม-แม่ทะ ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 52100 เป็นวัดศิลปกรรมแบบพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 31 วัด ศรีชุม ในภาษาคำเมืองเหนือ แปลว่า ต้นโพธิ์ (ข้อมูล-การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ก่อสร้างราวปี พุทธศักราช 2433 โดยคหบดีชาวพม่าชื่อ หม่อง อู โย ซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำงานป่าไม้ในประเทศไทย เมื่อตนเองมีฐานะดีขึ้นจึงต้องการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรดาผีสางเทวดา และนางไม้ที่สิงอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เพื่อเป็นการขอลุแก่โทษ พร้อมกับอัญเชิญให้คุ้มครองตนเองด้วย จึงได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชานุญาตจากเจ้าผู้ครองนครลำปางแล้วจึงได้จัดสร้างวัดศรีชุมขึ้น และมีชื่อเรียกเป็นภาษาพม่าว่า “หญ่องไวง์จอง” (หญ่อง=ศรี , ไวง์=ชุม , จอง=วัด) วัดศรีชุมได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พุทธศักราช 2436



จุดเด่นของวัดศรีชุมนี้อยู่ที่อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ ที่มีเอกลักษณ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าที่มีสภาพสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวิหารหอสวดมนต์ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ที่ได้สร้างขึ้นตามแบบแผนของปราสาทที่เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมของราชสำนักพม่า มีหลังคาซ้อนกันห้าชั้น ที่ซุ้มคลุมบันไดทางขึ้น และยอดสูงสุดเจ็ดชั้นทรงพระยาธาตุ ที่เป็นตำแหน่งประดิษฐานพระพุทธรูปประทานปางมารวิชัยหรือพระบัวเข็ม (ข้อมูล-กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ) พระบรมสารีริกธาตุเจดีย์ที่อัญเชิญมาจากประเทศพม่าเมื่อปีพุทธศักราช 2449 พระอุโบสถทรงมณฑปจตุรมุข มีหลังคายอดเรือนห้าชั้นที่จตุรมุขทั้งสี่ ตรงกลางเป็นเรือนยอดสูงสุดเจ็ดชั้น ล้วนประดับประดาด้วยลวดลายโลหะฉลุปิดทองล่องชาดมีฉัตรทองติดอยู่บนยอด ภายในเพดาน เสาไม้กลม และผนังบางส่วน รวมทั้งแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปแบบพระพม่า มีกระจกสีประดับแพรวพราววาววับ สามารถดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นได้จับจ้องมองดูด้วยความตื่นตาซึ่งจะมีให้เห็นได้ในวัดศรีชุมแห่งนี้ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระพุทธประวัติ ภาพจำลองแผนผังของวัด ก็มีให้ท่านชมบนพระวิหารหอสวดมนต์ หอพระไตรปิฎกแบบโดม กุฏิหอฉัน เรือนครัวพร้อมเว็จกุฏิ ยุ้งฉางใช้เก็บข้าวของ กุฏิสำนักเจ้าอาวาสที่ด้านหลังมีหลังคาคลุมทางเดินไปเว็จกุฏิที่เป็นสัดส่วน ทั้งบ่อน้ำผิวดิน สระน้ำแนวกำแพงแบ่งเขตและซุ้มประตูทางเข้าออก ล้วนมีเอกลักษณ์ที่เป็นสถาปัตกรรมแบบพม่ายุคเก่าสมัยแรก ที่มีลักษณะพิเศษ คือ จะตกแต่งด้วยไม้จำหลักและการประดับกระจกสีที่ทำด้วยฝีมืออันประณีตงดงามยิ่งตั้งแต่หัวเสาจำหลักด้วยไม้ประดับกระจก ตลอดไปจนถึงฝ้าเพดาน หลังคา สาหร่ายรวงผึ้ง ซึ่งจำหลักเป็นตุ๊กตาไม้แกะสลักปะปนประดับประดาอยู่ตามมุมต่าง ๆ เป็นตุ๊กตาแต่งกายแบบพม่า ตุ๊กตาตีฉาบ ตุ๊กตาทำหกคะเมนตีลังกา หรือทำท่าแปลก ๆ ตามแต่อารมณ์ของผู้เป็นช่างจะประดิษฐ์ขึ้น วิหาร มณฑป กุฏิ ของวัดนี้ จะประดับประดา เสา เพดาน ผนังบางส่วนด้วยกระจกสีแพรวพราวเป็นรูปดอกไม้เครือเถาลายก้านขด ลายใบไม้ในสไตล์ยุโรป เจ้าตุ๊กตาคิวปิด เทพเจ้าแห่งความรักของฝรั่งกำลังโก่งคันศรที่มองเห็นได้ในวัดศรีชุมนั่นคือ อิทธิพลและการเคลื่อนไหวทางศิลปกรรมที่ช่างพม่าซึ่งเคยตกอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษมาเป็นเวลานาน รับไว้แล้วนำมาถ่ายทอดโดยผสมผสานกับฝีมือและคติความเชื่อประจำชาติของตน (ข้อมูล-วารสารมรดก และข้อมูล-กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ)

เป็นที่น่าเสียดายว่า ปัจจุบันนี้ วิหารที่สวยงามวิจิตรของวัดศรีชุม ได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายจนหมด และทางกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ได้เข้ามาทำการอนุรักษ์บูรณะปฏิสังขรณ์วิหารวัดศรีชุมซึ่งถูกไฟไหม้ให้งดงามดังเดิม โดยถ่ายแบบจากของเดิมทุกประการ แต่ก็อาจจะงดงามเทียบกับของเดิมไม่ได้ (ข้อมูล-กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ)



สระน้ำโบราณ ตั้งอยู่ด้านหลังของวิหารปราสาท ก่อสร้างด้วยอิฐดินเผาอย่างถาวร กว้าง 8.00 เมตร ยาว 64.00 เมตร หรือขนาด 512.00 ตารางเมตร ลึก 3.00 เมตร หรือจุราว 1,536 ลูกบาศก์เมตร พ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้สร้างได้จัดเรียงอิฐดินเผาซ้อนกันเป็นชั้นเหมือนขั้นบันไดตลอดแนวของสระโบราณนี้ เพื่อให้เต่าที่อาศัยอยู่ในสระน้ำสามารถคลานปีนขึ้นไปวางไข่บนบกได้ด้วยตนเอง เมื่อก่อนเคยปลูกต้นดอกบัวไว้ชูช่อสวยงามแลดูสงบร่มรื่นเปรียบดังสระอโนดาตในป่าหิมพานต์…ปัจจุบันน้ำใต้ผิวดินได้ลดระดับลงทำให้น้ำในสระโบราณนี้ถูกดูดซึมออกไปตลอดเวลา ปริมาณน้ำในสระจึงเหลือประมาณครึ่งเมตรเท่านั้น บรรดาสัตว์น้ำ เช่น เต่า ปลา ต้องอาศัยอยู่อย่างลำบากในสระน้ำที่กำลังแห้งขอดลงอยู่ทุกวัน สาเหตุสายน้ำที่เคยไหลผ่านหน้าวัดมาตามลำคลองและต่อท่อมาลงสระน้ำได้นั้น ได้ถูกเปลี่ยนเส้นทางไป เนื่องจากการถมคลองทำถนนหนทาง (ข้อมูล-เอกสารเจ้าคณะอำเภอเมืองลำปาง ถึง สำนักงานทรัพยากรธรณี จังหวัดลำปาง)


วัดศรีรองเมือง


วัดศรีรองเมือง หรือเดิมชื่อว่า “วัดท่าคราวน้อยพม่า” ตั้งอยู่ที่ 80 ถนนท่าคราวน้อย ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ศรัทธาชาวบ้านท่าคราวน้อยร่วมกันสร้างขึ้น โดยช่างฝีมือชาวพม่า ความสวยงามของวัดนี้ อยู่ที่วิหาร ซึ่งสร้างวิหารหลังใหญ่โต มีการประดับประดาตกแต่งด้วยโลหะสีทอง และตกแต่งด้วยแก้ว มีความหรูหราสง่างามมาก สว่างไสววูบวาบประดุจเทพนิมิตร เป็นที่ถูกตาต้องใจแก่ผู้ที่มาพบเห็น ดูตั้งแต่เสาพระวิหารประดับประดาด้วยโลหะสีทองตัดเป็นลวดลายก้านจดลายเถาประดับด้วยกระจกสีต่าง ๆ หลากสีดูแวววาวระยับ เมื่อพิจารณาความประณีตของช่างฝีมือแล้ว ซึ่งดูได้จากดอกไม้และตามลายละเอียดมาก แม้แต่เกสรดอกไม้ก็ใช้แก้วเจียรไนอย่างละเอียด เสาบางต้นจะใช้ไม้แกะสลักเป็นรูปพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ติดตามเสา และมีโลหะทองตัดเป็นลวดลายตกแต่ง



บนพระวิหารหลังนี้ จะยกพื้นให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งได้อัญเชิญมาประดิษฐานในซุ้มคล้าย ๆ ตู้กระจกมียอดแหลมตกแต่งด้วยโลหะสีทอง และกระจกหลากสีแบบพม่า หลังคาพระวิหารจะมียอดแหลมถึงเก้ายอด แต่ละยอดแสดงถึงจำนวนครอบครัวของผู้ศรัทธาสร้างตามลำดับดังนี้ คือ



1. หลังคาทิศตะวันออก (ทิศบูรพา) นามศรัทธาจองตะก่าวารินต๊ะ แม่จองตะก่าจันทร์แก้ว มณีนันท์
2. หลังคาทิศตะวันออกยอดที่สอง คือ ศรัทธาจองตะก่าบันจุมแม่จองตะก่าคำแปง มณีนันท์
3. หลังคาทิศตะวันออกยอดที่สาม คือ ศรัทธาจองตะก่าส่างอ้ายแม่จองตะก่าจันทร์คำ มณีนันท์
4. หลังคาทิศตะวันตก (ทิศปัจฉิม) นามศรัทธาจองตะก่าอินต๊ะแม่จองตะก่าคำออน ศรีสองเมือง
5. หลังคาทิศตะวันตกยอดที่สอง นามศรัทธาจองตะก่ากันดะมาแม่จองตะก่าปัญจุม กันทะมา
6. หลังคาทิศตะวันตกยอดที่สาม นามศรัทธาจองตะก่ากันที่แม่จองตะก่าจันทร์เป็ง สุวรรณอัตถ์
7. หลังคาทิศใต้ (ทิศทักษิณ) หรือด้านหน้ามี 2 หลังคา หลังคามีนามศรัทธาว่าจองตะก่ากันทา แม่จองตะก่าบัวคำ
8. หลังคาทิศใต้หลังที่สอง นามศรัทธาจองตะก่าวุ่นนะแม่จองตะก่าบัวแก้ว
9. ส่วนที่เหลือเป็นหลังใหญ่รวมทั้งชานและบันได ไปถึงกุฏิห้องสุขาและครัว เป็นของศรัทธาต้น คือ จองตะก่านันตาน้อยและแม่จองตะก่าคำเอ้ยและแม่จองตะก่าคำมูล นันตาน้อย บนวิหารที่ยกพื้นขึ้นจะมีซุ้มอยู่ 4 ซุ้ม
ซุ้มองค์ที่ 1 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปผู้สร้าง คือ ปู่ทวดยายทวดของยายจันทร์ดี กาญจนวงศ์
ซุ้มองค์ที่ 2 เป็นพระพุทธรูปสร้างแบบเชียงแสน แม่เฒ่าคำออน ศรีสองเมือง กับ เจ้าบุญวาทย์ วงศ์มานิตย์ เจ้าครองเมืองลำปาง ได้อัญเชิญมาจากเชียงแสน
ซุ้มองค์ที่ 3 เป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากไม้สัก คือสร้างไม้แกะสลัก ไม้สักต้นนี้เป็นไม้ที่มีลำต้นใหญ่และยาวมาก ไหลมาตามแม่น้ำวัง แล้วมาติดอยู่ที่ท่าน้ำหลังวัดศรีรองเมือง พอดีศรัทธาได้นำไม้สักท่อนนี้มาไว้ที่วัด แล้วก็มีผู้คนหลั่งไหลมาดูเป็นต้นไม้สักที่แปลกมาก จึงมีคนเอาดอกไม้ ธูปเทียนมาบูชากัน จนวันหนึ่งมีฝนตกฟ้าร้อง ลมแรงมาก ปรากฏว่า เทียนที่จุดไว้บนท่อนไม้ไม่ยอมดับ บรรดาศรัทธาวัดท่าคราวน้อยพม่า จึงพร้อมด้วยจองตะก่าอินต๊ะและแม่จองตะก่าคำออน ศรีสองเมือง จึงได้ให้ช่างมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะพม่า และนำมาประดิษฐานไว้ ณ วิหารนี้
ซุ้มองค์ที่ 4 เป็นพระพุทธรูปสร้างขึ้นแบบศิลปะพม่า โดยศรัทธาพ่อเลี้ยงคำหมั้น มณีนันท์ นำมาประดิษฐานเป็นซุ้มที่ 4 ใต้ฐานรองพระพุทธรูปทุก ๆ องค์ ก็ตกแต่งด้วยโลหะสีทอง ตัดด้วยลายก้านเถาเป็นกระจกหลากสีงดงามมาก พระพุทธรูปสร้างแบบเชียงแสน เคยได้ยินคุณแม่นายคำมี แสนเมือง อาว์บัวเกี๋ยง นันตาน้อย โดยคำสั่งของเจ้าพ่อบุญวาทย์ วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองเมืองลำปางบอกกับผู้เฒ่าจอง นันตา ให้สร้างโขลง ท่านจะไปเอาพระพุทธรูปบูชาที่เมืองเชียงแสนมาไว้ที่วัดศรีรองเมือง



วิหารวัดศรีรองเมืองเริ่มก่อสร้างในปีพุทธศักราช 2448-2455 จุลศักราช 1267-1274 เป็นเวลา 17 ปีเต็ม พอสร้างเสร็จศรัทธาจองตะก่านันตาน้อยพร้อมทั้งญาติโยมทั้งหลาย ได้จัดสร้างพระไตรปิฎกฉบับถาวรเป็นใบลานไว้กับพระวิหารหลังนี้ 1 ฉบับใหญ่ และยังได้บูชาพระไตรปิฎกแบบพิมพ์ภาษาพม่าไว้เป็นเล่มไว้ในพระวิหารนี้อีก 100 กว่าฉบับ พร้อมทั้งเครื่องประดับหน้าพระประธาน ประดับตกแต่งเหมือนเทพเนรมิตรวัดท่าคราวน้อยมาจากสวรรค์ชั้นฟ้ามาไว้ในเมืองละกอน(นครลำปาง) จึงได้ทำพิธีถวายทานมอบให้ไว้เป็นศาสนสมบัติในพุทธศาสนา มีกำหนดถวายทานในวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2455 ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ปีชวด จุลศักราช 1274

วัดท่าคราวน้อยพม่านี้ต่อมาได้มาเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดศรีรองเมือง” เป็นชื่อตามชื่อ-นามสกุลของจองตะก่าอินต๊ะกับแม่จองตะก่าคำออนว่า “ศรีรองเมือง” มาเป็นชื่อวัดศรีรองเมืองจนถึงปัจจุบันนี้ ถ้าใครเข้าไปนมัสการและได้ขึ้นชมพระวิหาร จะเห็นพระบรมสาธิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ประดิษฐานบนแท่นหน้าพระพุทธรูป พร้อมทั้งลายเซ็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ด้วย พระองค์ท่านได้เสด็จมานมัสการบนพระวิหารหลังนี้ในปีพุทธศักราช 2475

จองตะก่าส่างโตกับแม่เฒ่าจันทร์ฟอง รัตนคำมน ร่วมกับญาติได้สร้างพระอุโบสถขึ้นทางทิศตะวันออก กว้าง 7 เมตร ยาว 12 เมตร 25 เซนติเมตร ให้หล่อพระพุทธรูป 1 องค์ หน้าตักกว้าง 1 เมตร 22 เซนติเมตร มีกำแพงล้อมรอบ 4 ทิศ ได้สร้างอ่างน้ำพุที่หัวบันได และสร้างประตูเข้าวัด

ที่มา : เอกสารประชาสัมพันธ์วัดศรีชุม , วัดศรีรองเมือง