รถม้า....วันเวลาที่เหลืออยู่

โดย สง่า จุราเพชร  - 13 ส.ค. 2542



เมื่อกล่าวถึงรถม้า ทุกคนจะนึกถึงจังหวัดลำปาง เพราะรถม้ากับจังหวัดลำปางเป็นของคู่กัน จนเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ ดังคำขวัญที่ว่าถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก
ต้นกำเนิดของรถม้านั้นเดิมเป็นพาหนะที่ใช้อยู่ในกรุงเทพโดยเป็นรถประจำตำแหน่งของข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนัก แต่เมื่อมีการนำรถยนต์เข้ามา การใช้รถม้าเริ่มเสื่อมความนิยม จึงทำให้มีการโยกย้ายรถม้าทั้งหมดไปอยู่ต่างจังหวัด ประจวบกับขณะนั้นทางรถไฟสายเหนือได้ก่อสร้างมาถึงจังหวัดลำปางพอดี เจ้าของม้าจึงย้ายรถม้ามาอยู่ที่จังหวัดลำปางในปี พ.ศ 2458 แต่ในระยะแรกผู้คนยังไม่นิยมใช้สำหรับโดยสาร ส่วนใหญ่จะใช้เป็นรถม้าบรรทุกผักไปขายที่ตลาดเท่านั้น ต่อมาจึงค่อยๆเพิ่มความนิยมขึ้นเรื่อยๆและมีการใช้บริการรถม้ามาเป็นเวลานานแม้ว่าปัจจุบันจะมีการใช้รถยนต์สำหรับเป็นพาหนะรับส่งผู้คนแต่ชาวลำปางยังรักษาเอกลักษณ์นี้ไว้ได้ ปัจจุบันรถม้าในจังหวัดลำปางมีประมาณ 70-80 คัน ออกวิ่งรับผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ไม่มีการวิ่งรับส่งผู้โดยสารโดยทั่วไปเหมือนรถสามล้อหรือรถสองแถวเล็ก
อาขีพขับรถม้าเป็นอาชีพที่เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทำงานอิสระการออกให้บริการรถม้าขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ขับรถม้า ในแต่ละวันรายได้ในการขับรถม้าจะไม่แน่นอนเนื่องจากเป็นอาชีพที่ขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวไม่ใช่การบริการผู้โดยสารโดยทั่วไป หากเป็นช่วงเทศกาลการท่องเที่ยวต่างๆช่วงนี้จะมีรายได้ดีแต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโรงเรียนเปิดเทอมจะเป็นช่วงที่มีรายได้ฝีดเคืองมาก

สำหรับผู้ที่ต้องการมีอาชีพขับรถม้านั้นจากการให้สัมภาษณ์ของคุณน้อย กาใจ ซึ่งมีอาชีพขับรถม้ามานานถึง 26 ปีกล่าวว่า ในช่วงแรกจะต้องมีเงินทุนเริ่มต้นสำหรับประกอบอาชีพอยู่ระหว่าง 50000 - 70000 บาท เพื่อใช้ซื้อตัวรถและซื้อม้า ซึ่งตัวรถม้านั้นจะไม่มีการประกอบขายโดยทั่วไป ผู้ที่ต้องการจะต้องไปสั่งประกอบจากผู้ที่รับทำโดยตรงซึ่งก็คือผู้ที่มีอาชีพขับรถม้านั้นเอง สำหรับม้าที่ใช้ลากรถนิยมใช้ม้าพันธุ์พื้นเมืองที่เรียกว่าม้าแกลบ เคยมีการนำม้าแข่งมาใช้ลากรถ ปรากฎว่าความทนทานสู้ม้าแกลบไม่ได้จึงไม่นิยมใช้

รายได้ของรถม้าจะมาจากนักท่องเที่ยวโดยตรง โดยในแต่ละวันจะมีรายได้อยู่ระหว่าง 150 -300 บาท โดยคิดจากอัตราค่าโดยสารจะแบ่งเป็น 2 ระยะคือนั่งรถม้าวิ่งรอบเมืองเล็กระยะทางประมาณ 2 - 3 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 150 บาท และนั่งรถม้าวิ่งรอบเมืองใหญ่ระยะทางประมาณ 3 - 4 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 200บาท
ส่วนรายจ่ายนั้นจะเป็นค่าอาหารม้าซึ่งนอกจากหญ้าแล้วยังต้องมีอาหารเสริม จำพวกรำ ข้าวเปลือก อีกด้วย โดยจะให้กินมื้อละถัง วันละ 3 มื้อ ตกเฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายตัวละ 50 บาทต่อวัน การออกให้บริการรถม้าจะไม่แน่นอน เนื่องจากผู้ขับรถม้าจะเป็นเจ้าของรถม้าโดยตรง ไม่มีการให้เช่าขับ โดยรถม้าหนึ่งคันจะใช้ม้า 2 ตัว ผลัดเปลี่ยนกันลากรถ ซึ่งม้าหนึ่งตัวจะมีเวลาทำงานวันละประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง
นอกจากรายได้จากการบริการนักท่องเที่ยวแล้ว ส่วนหนึ่งของผู้ขับรถม้ายังมีรายได้จากการนำรถม้าไปให้บริการในเทศกาลท่องเที่ยวของจังหวัดต่างๆตามแต่จะมีผู้มาติดต่อ

ปกติรถม้าจะไม่วิ่งทั่วไป แต่จะจอดรับนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าวัดบุญวาทย์ ส่วนในเวลากลางคืนจะกระจายอยู่บริเวณโรงแรมต่างๆ
จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้จำนวนคนว่างงานมีเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งหันมายึดอาชีพขับรถม้า ทำให้จำนวนรถม้าในจังหวัดลำปางมีทีท่าว่าจะเพิ่มมากขึ้น แต่ในทางกลับกันจำนวนนักท่องเที่ยวที่แวะมาเที่ยวจังหวัดลำปางก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ฉะนั้นส่วนแบ่งรายได้ก็น่าจะลดลง ทำให้จำนวนรถม้าอาจลดลงเหมือนเมื่อครั้งก่อนที่ลำปางมีรถม้าจำนวนมากและค่อยๆลดลงเนื่องจากรายได้ไม่พอเพียง