การประกันคุณภาพการศึกษา โดย รวิสรา ท้าวตื้อ - 13 มิ.ย. 2547 การประกันคุณภาพการศึกษา การประกันคุณภาพ หมายถึง กิจกรรม หรือแนวปฏิบัติที่จำเป็นต้องดำเนินงานเพื่อประกันว่าคุณภาพของการศึกษาได้รับการรักษาไว้ และส่งเสริมเพิ่มพูน การประกันคุณภาพการศึกษา จึงรวมถึงกิจกรรม หรือแนวปฏิบัติใด ๆ ที่หากได้ดำเนินตามระบบ และแผน ที่ได้วางไว้แล้ว จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ผลผลิตของการศึกษาที่มีคุณภาพตามลักษณะที่พึงประสงค์ กระบวนการประกันคุณภาพ ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้ ๑. การควบคุมคุณภาพภายใน (Internal Quality Control) เป็นส่วนที่สถาบันอุดมศึกษา จะต้องจัดให้มีระบบและกลไกการควบคุมคุณภาพภายในองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อคุณภาพของบัณฑิต และต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบโดยใช้หลักการของการควบคุมคุณภาพที่เหมาะสม พร้อมทั้งการมีระบบตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการภายในด้วย ๒. การตรวจสอบคุณภาพ (Quality Auditing) หมายถึง การตรวจสอบผลการดำเนินการของระบบและกลไกควบคุมคุณภาพภายในที่สถาบันอุดมศึกษาได้จัดให้มีขึ้นโดยจะเป็นการตรวจสอบเชิงระบบมุ่งเน้นการพิจารณาว่า สถาบันได้มีระบบการควบคุมคุณภาพหรือไม่ ได้ใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเพียงใด และมีขั้นตอนการดำเนินการที่จะทำให้เชื่อถือได้หรือไม่ว่าการจัดการศึกษาจะเป็นไปอย่างมีคุณภาพทั้งนี้มุ่งเน้นการตรวจสอบในคณะวิชาเป็นหลัก ๓. การประเมินคุณภาพ (Quality Assessment) หมายถึง กระบวนการประเมินผลการดำเนินการของคณะวิชาโดยภาพรวมว่า เมื่อได้มีการใช้ระบบการประกันคุณภาพ หรือระบบควบคุมคุณภาพแล้วได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ การตรวจสอบและประเมินคุณภาพนี้กระทำอย่างเป็นระบบ โดยมีกฎเกณฑ์และแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน โดยสรุปกระบวนการการประกันคุณภาพการศึกษา ประกอบด้วย ๑. การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) ๒. การตรวจสอบคุณภาพ (Quality Auditing) ๓. การประเมินคุณภาพ (Quality Assessment) ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาอาจจำแนกได้เป็น ๒ ส่วน คือ การประกันคุณภาพภายใน และการประกันคุณภาพ ภายนอก (๑.)การประกันคุณภาพภายใน หมายถึง กิจกรรมการควบคุมคุณภาพภายในสถาบันอุดมศึกษา โดยการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาเอง เพื่อให้มีความมั่นใจว่าสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการตามภารกิจหลักอย่างมีคุณภาพ กระบวนการประกันคุณภาพภายใน ประกอบด้วย ๑. การควบคุมคุณภาพ ๒. การตรวจสอบคุณภาพ ๓. การประเมินคุณภาพ หลักการสำคัญของการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ๑. ไม่ใช้การจับผิดหรือทำให้บุคลากรเสียหน้า โดยเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาให้เกิดขึ้นกับเรียน ๒. การที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายต้องทำให้การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวน การบริหารจัดการและการทำงานของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา ไม่ใช่กระบวนการที่แยกส่วนมาจากการดำเนินงานตามปกติของสถานศึกษา โดยจะต้องวางแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายชัดเจน ทำตามแผนตรวจสอบประเมินผล และพัฒนาปรับปรุงอย่าต่อเนื่องเป็นระบบ มีความโปร่งใส และมีจิตสำนึกในการพัฒนาคุณภาพทำงาน ๓. การประกันคุณภาพเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู อาจารย์ และบุคลากรอื่นๆโดยในการดำเนินงานต้องให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เรียนชุมชน เขตพื้นที่ หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย วางแผนติดตาม ประเมินผลพัฒนาปรับปรุง ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ช่วยกันผลักดันให้สถานศึกษามีคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ เป็นไปตามความต้องการของผู้ปกครอง สังคม และประเทศชาติ (๒.)การประกันคุณภาพโดยภายนอก หมายถึง การดำเนินการตามระบบควบคุมคุณภาพภายในพร้อมทั้งการตรวจสอบและการประเมินผลทั้งระบบ โดยหน่วยงานภายนอกเพื่อประกันว่าสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการภารกิจหลักได้อย่างมีคุณภาพ กระบวนการประกันคุณภาพภายนอก ประกอบด้วย ๑. การตรวจสอบคุณภาพที่ผ่านกระบวนการประกันคุณภาพภายใน ๒. การประเมินคุณภาพ ๓. การให้การรับรอง ดัชนีบ่งชี้คุณภาพ หมายถึง ตัวบ่งชี้ว่าการดำเนินงานในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์และมาตรฐานการศึกษาที่กำหนด ผลผลิตทางการศึกษา หมายถึง ผลการดำเนินตามภารกิจหลัก ประกอบด้วยการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการทางวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภารกิจหลักอื่น ๆ ของสถาบันอุดมศึกษา มาตรฐานการศึกษา หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง และเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผลและการประกันคุณภาพทางการศึกษา การประเมินคุณภาพภายนอก หมายถึง การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา การติดตาม การตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งกระทำโดยสำนักงานฯ หรือผู้ประเมินภายนอก แล้วแต่กรณี เพื่อมุ่งให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบันศึกษาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น การรับรองมาตรฐาน หมายถึง การให้การรับรองการทำการประเมินคุณภาพภายนอกของผู้ประเมินภายนอก ที่มีคุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่สำนักงานฯ กำหนด |