การคิดและการสอนเพื่อพัฒนาการคิด

โดย นิคม ปิยมโนชา  - 19 มิ.ย. 2547


การคิดและการสอนเพื่อพัฒนาการคิด



      การใช้ความคิดของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต ผู้ที่มีความคิดเฉียบแหลม ทันสมัย ไม่เหมือนใคร คิดได้ก่อนใครจะเป็นผู้ที่ได้เปรียบในทุก ๆ ด้าน สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและประสบผลสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน

            ความคิดของมนุษย์เป็นผลที่เกิดจากกลไกของสมองซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเป็นไปตามธรรมชาติ ผลของการใช้ความคิดจะแสดงให้เห็นในลักษณะของการสรุปเป็นความคิดรวบยอด การจำแนกความแตกต่าง การจัดกลุ่ม การจัดระบบการแปลความหมายของข้อมูล รวมทั้งการสรุปอ้างอิง การเชื่อมโยงสัมพันธ์ของข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับข้อมูลที่ได้มา อาจเป็นความจริงที่สัมผัสได้ หรือเป็นเพียงจินตนาการที่ไม่อาจสัมผัสได้ ดังนั้น สมองจึงควรได้รับการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและคุณภาพของสมองมิได้อยู่ที่การมีสมองเท่านั้น แต่อยู่ที่การใช้สมองเป็นสำคัญ การฝึกทักษะกระบวนการคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เยาวชนควรได้รับ การพัฒนาเพื่อให้เกิดความเจริญเติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

            แนวการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กล่าวถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เน้นฝึกฝนทักษะสำคัญ คือ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ การประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
      การจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็นทำเป็น ใฝ่เรียนใฝ่รู้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จึงเป็นภาระงานที่สำคัญยิ่ง และมีคุณค่าต่อความเป็นครูมืออาชีพในยุคของการปฏิรูปการเรียนรู้


      การคิดและการสอนเพื่อพัฒนาการคิด
      การคิด หมายถึง พฤติกรรมภายในที่เกิดจากกระบวนการทำงานของสมอง ในการรวบรวมจัดระบบข้อมูลและประสบการณ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นรูปร่างหรือมโนภาพที่เป็นเรื่องราวขึ้นในใจและสื่อสารออกมาโดยใช้คำพูดหรือแสดงออก

      แนวคิด

      1. การคิดและการสอนคิดเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการจัดการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพสูง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มีการศึกษาเรื่องของการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพทุกด้าน ทั้งด้านสติปัญญา คุณธรรม และความเป็นพลเมืองดีของประเทศโดยเน้นการฝึกการคิดและกระบวนการคิด
      2. การคิดเป็นกระบวนการทางปัญญาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และมักจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่มีขอบเขตจำกัด การคิดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
                  2.1 การคิดอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย (Associative Thinking) เป็นการคิดแบบไม่ตั้งใจหรือมีจุดมุ่งหมายการคิด มีลักษณะคิดไปเรื่อย ๆ การคิดเช่นนี้มักไม่มีผลสรุป และไม่สามารถนำผลของการคิดไปใช้ประโยชน์
                  2.2 การคิดอย่างมีจุดหมาย (Directed Thinking) เป็นการคิดเพื่อหาคำตอบ เพื่อแก้ปัญหา หรือนำไปสู่จุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายโดยตรง สามารถนำผลของการคิดไปใช้ประโยชน์
      3. การสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะความคิดอย่างมีจุดมุ่งหมายช่วยให้ผู้เรียนตัดสินใจหรือแก้ปัญหาได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในยุคที่โลกกำลังเจริญก้าวหน้า สภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เป็นสังคมแห่งการพัฒนาข่าวสารข้อมูล
      4. ความสามารถในการคิด ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนภายในสถานการณ์ที่เหมาะสม โดยเริ่มจากความสามารถพื้นฐานในการคิดที่เรียกว่า ทักษะการคิด แล้วเพิ่มความซับซ้อนขึ้นโดยการฝึกลักษณะการคิดและกระบวนการคิดตามลำดับ


      กรอบความคิดของการคิด ตามแนวทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดของ ทิศนา แขมณี และคณะ (2540) ได้แบ่งประเภทของการคิดเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

      กลุ่มที่ 1 ทักษะการคิด หรือทักษะการคิดพื้นฐานที่มีขั้นตอนการคิดไม่ซับซ้อน เป็นทักษะพื้นฐานของการคิดขั้นสูง หรือระดับสูงที่มีขั้นตอนซับซ้อน แสดงออกถึงการกระทำหรือพฤติกรรมที่ต้องใช้ความคิด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทักษะการคิดพื้นฐาน และทักษะการคิดขั้นสูง ดังนี้
            1. ทักษะการคิดพื้นฐาน ประกอบด้วย
                  1.1 ทักษะการสื่อความหมาย หมายถึง ทักษะการรับสารที่แสดงถึงความคิดของผู้อื่นเข้ามาเพื่อรับรู้ ตีความแล้วจดจำ และเมื่อต้องการที่จะระลึก เพื่อนำมาเรียบเรียงและถ่ายทอดความคิดของตนให้แก่ผู้อื่น โดยแปลความคิดในรูปของภาษาต่าง ๆ ทั้งที่เป็นข้อความ คำพูด ศิลปะ ดนตรี คณิตศาสตร์ ฯลฯ เช่น ทักษะการฟัง ทักษะการพูด ทักษะการอภิปราย ทักษะการทำให้กระจ่าง เป็นต้น
                  1.2 ทักษะการคิดที่เป็นแกนหรือทักษะการคิดทั่วไป หมายถึง ทักษะการคิดที่จำเป็นต้องใช้อยู่เสมอในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ทักษะการสังเกต ทักษะการสำรวจ ทักษะการตั้งคำถาม ทักษะเก็บรวบรวมข้อมูล ทักษะการระบุ ทักษะการจำแนก ทักษะการเปรียบเทียบ เป็นต้น
            2. ทักษะการคิดขั้นสูงหรือทักษะการคิดที่ซับซ้อน หมายถึง ทักษะการคิดที่มีขั้นตอนหลายขั้น และต้องอาศัยทักษะการสื่อความหมาย และทักษะการคิดที่เป็นแกนหลาย ๆ ทักษะในแต่ละขั้น เช่น ทักษะการสรุปความ ทักษะการให้คำจำกัดความ ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะการผสมผสานข้อมูล ทักษะการจัดระบบความคิด ทักษะการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ทักษะการตั้งสมมุติฐาน เป็นต้น


      กลุ่มที่ 2 ลักษณะการคิด หรือการคิดขั้นกลาง/ระดับกลาง มีขั้นตอนในการคิดซับซ้อนมากกว่าการคิดในกลุ่มที่ 1 การคิดในกลุ่มนี้เป็นพื้นฐานของการคิดระดับสูง ซึ่งลักษณะการคิดแต่ละลักษณะต้องอาศัยทักษะการคิดขั้นพื้นฐานมากบ้างน้อยบ้างในการคิดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
            1. ลักษณะการคิดทั่วไปที่จำเป็น ได้แก่ การคิดคล่อง การคิดละเอียด การคิดหลากหลาย การคิดชัดเจน
            2. ลักษณะการคิดที่เป็นแกนสำคัญ ได้แก่ การคิดถูกทาง การคิดไกล การคิดกว้าง การคิดอย่างมีเหตุผล      การคิดลึกซึ้ง


      กลุ่มที่ 3 กระบวนการคิด หรือการคิดระดับสูง มีขั้นตอนในการคิดซับซ้อนและต้องอาศัยทักษะการคิด และลักษณะการคิดเป็นพื้นฐานในการคิด กระบวนการคิดมีอยู่หลายกระบวนการ เช่น กระบวนการคิดแก้ปัญหา กระบวนการคิดตัดสินใจ กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กระบวนการคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
<น้ำเงิน>      แนวการวัดความสามารถด้านการคิดจากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในขณะจัดกิจกรรมการเรียนรู้


      ตัวอย่างการจัดกิจกรรมการสอนเพื่อพัฒนาการคิด


      ในสถานการณ์การเรียนกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เรื่อง การประกอบอาชีพ ครูได้สอนถึงอาชีพต่าง ๆ ในท้องถิ่น ประโยชน์และความสำคัญของอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งความสัมพันธ์ของการประกอบอาชีพต่อการเจริญของสังคมที่อาศัยอยู่โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ต่อไปนี้

      ครูนำภาพของอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนมาให้นักเรียนเรียนรู้แล้วสนทนากับนักเรียนดังนี้
 ในภาพนี้มีอาชีพอะไรบ้าง
 นักเรียนคิดว่านอกจากอาชีพในภาพที่ครูนำมาให้ดู ยังมีอาชีพอะไรอีกบ้าง
 อาชีพแต่ละอาชีพมีความสำคัญอย่างไร
 ถ้าให้นักเรียนเลือกประกอบอาชีพจะเลือกอาชีพอะไร
 ถ้าประชาชนทุกคนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้จะมีผลต่อประเทศชาติอย่างไร
 ถ้าให้เลือกประกอบอาชีพที่สุจริต รายได้น้อย กับการค้าของผิดกฎหมายซึ่งมี
รายได้ดี นักเรียนจะเลือกอาชีพอะไร
      

      ทักษะ/ลักษณะการคิด
การสังเกต
การทำให้กระจ่าง
การอธิบาย
การระบุ
การคิดไกล
การคิดถูกทาง
การคิดอย่างมีเหตุผล

      
      พฤติกรรมที่วัดได้
 นักเรียนบอกได้ว่ามีอาชีพอะไรบ้าง
 นักเรียนบอกอาชีพต่าง ๆ นอกเหนือจากในภาพ
 นักเรียนบอกความสำคัญของแต่ละอาชีพได้
 นักเรียนบอกอาชีพที่ตนชอบได้
 นักเรียนบอกถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
 นักเรียนเลือกอาชีพสุจริต และให้เหตุผลในการเลือกได้


      จากตัวอย่าง ถ้านักเรียนสามารถแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ตามที่ครูเตรียมคำถามหรือคำสั่งได้ แสดงว่านักเรียนมีทักษะการคิด ลักษณะการคิดด้านนั้น ๆ แล้ว หลังจากได้รับการฝึกให้คิดในลักษณะนั้น ๆ มาแล้ว (กรมวิชาการ, 2542)

      

      



ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้


เรื่อง หลากถ้อยร้อยคำ


จุดประสงค์การเรียนรู้
      1. นักเรียนจับใจความสำคัญของเรื่องได้
      2. นักเรียนสรุปเรื่องย่อได้
      3. นักเรียนพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวละครและเหตุการณ์อย่างสมเหตุสมผล
      4. นักเรียนอธิบายความหมายของคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และนำคำไปแต่งประโยคและเรื่องราวได้
      5. นักเรียนวาดภาพประกอบได้สอดคล้องเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง
สาระการเรียนรู้ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา
กิจกรรมการเรียนรู้ กระบวนการเรียนการสอนแบบนิรนัย
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
      1. ครูเล่านิทานเรื่องยายเช้าปากกว้าง โดยใช้หุ่นมือหรือรูปภาพตัวละครประกอบ นักเรียนช่วยกันสรุปใจความสำคัญหรือเล่าเรื่องย่อ
2. นักเรียนพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวละครและเหตุการณ์
3. นักเรียนช่วยกันแยกคำดังนี้
            - คำชื่อตัวละคร (คน สัตว์) สถานที่ สิ่งของ
            - คำแสดงการกระทำของตัวละคร
            - คำแทนชื่อตัวละคร สถานที่ สิ่งของ
4. นักเรียนนำบัตรคำนาม คำสรรพนามและคำกริยาไปติดข้างบนชื่อตัวละคร คำแสดงการกระทำของตัวละคร คำแทนชื่อตัวละครตามลำดับ
5. นักเรียนช่วยกันอภิปรายความหมายของคำนาม คำสรรพนามและคำกริยา
ขั้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
      1. นักเรียนช่วยกันยกตัวอย่างคำนาม คำสรรพนามและคำกริยาที่นักเรียนรู้จักจากสื่อและประสบการณ์
      2. ร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับการใช้คำนาม คำสรรพนามและคำกริยา
      3. ครูและนักเรียนสรุปความหมายของการใช้คำนาม คำสรรพนามและคำกริยา
      4. แบ่งกลุ่มนักเรียนตามความเหมาะสม นักเรียนแต่ละกลุ่มปฏิบัติกิจกรรมตามใบงาน
ขั้นสรุปหรือตรวจสอบ
      1. สุ่มนักเรียนนำเสนอผลงาน
      2. ครูและนักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงาน แนะนำข้อบกพร่อง ปรับปรุงผลงาน
      3. สรุปบทเรียน
สื่อ/แหล่งเรียนรู้
      1. นิทานเรื่องยายเช้าปากกว้าง
      2. หุ่นมือหรือรูปภาพตัวละคร
      3. ใบงาน
      4. แบบบันทึกพฤติกรรมนักเรียน
การวัดผลและประเมินผล
      1. สังเกตจากการร่วมกิจกรรม เช่น
       - การแสดงความคิดเห็น
       - ความสนใจ
       - การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่ม
      2. ตรวจผลงาน
ข้อเสนอแนะ
      1. ก่อนครูจะศึกษาตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ ควรศึกษาแผนภาพความคิดเรื่อง หลากถ้อยร้อยคำ
      2. ครูสามารถเปลี่ยนนิทานเป็นสื่ออื่น ๆ ที่สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ได้
      3. การเล่านิทานครูอาจหาอาสาสมัครเล่าแทนครูก็ได้

ใบงาน


คำชี้แจง นักเรียนแต่ละกลุ่มเลือกประธานและเลขานุการกลุ่ม แล้วช่วยกันปฏิบัติกิจกรรมที่ 1-3 เสร็จแล้วคัดเลือกผู้แทนกลุ่ม เพื่อนำเสนอผลงาน
กิจกรรมที่ 1
      นักเรียนนำคำนาม คำสรรพนาม และคำกริยามาแต่งประโยคชนิดละ 2 ประโยค
กิจกรรมที่ 2
      นักเรียนนำคำนาม คำสรรพนามและคำกริยามาแต่งนิทานหรือบทสนทนาตามจินตนาการจัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก วาดภาพประกอบพร้อมทั้งระบายสีให้สวยงาม
กิจกรรมที่ 3
      นักเรียนเขียนคำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนรู้จักในนิทานเรื่องยายเช้าปากกว้างเป็นภาษาอังกฤษให้ได้มากที่สุด และนำคำศัพท์เหล่านั้นไปแต่งประโยค 5 ประโยค

นิทานเรื่องยายเช้าปากกว้าง


            ยายเช้าปากกว้างชอบหัวเราะโดยไม่ปิดปากอยู่เสมอ วันหนึ่งขณะที่แกกำลังหัวเราะ ตั๊กแตนตัวหนึ่งบินเข้าไปในปากของแก มันดิ้นกระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊ก ยายเช้าตกใจมากรีบไปปรึกษาเพื่อนชื่อยายสาย ยายสายแนะนำให้ยายเช้ากลืนนกเข้าไป นกจะได้จิกตั๊กแตน ตั๊กแตนจะได้ตาย ยายเช้าทำตามคำแนะนำของเพื่อน แต่นกไม่จิกตั๊กแตน ตั๊กแตนก็ไม่ตาย ทั้งนกและตั๊กแตน พากันดิ้นกระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊ก ยายเช้าตะโกนบอกยายสายว่า "ยายสายฉันทำตามที่เธอบอกแล้วแต่นกและตั๊กแตนไม่ตาย ทำอย่างไรดีล่ะ" "กลืนแมวอีกตัวซิ มันจะได้กัดนก นกจะได้จิกตั๊กแตน ตั๊กแตนจะได้ตาย" ยายสายแนะนำ ยายเช้ารีบทำตาม แต่แมวก็ไม่กัดนก นกไม่จิกตั๊กแตน ตั๊กแตนก็ไม่ตาย ทั้งแมว นก และตั๊กแตน ดิ้นกระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊ก อยู่ในท้องของยายเช้า..

      จากแผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง หลากถ้อยร้อยคำ ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิด ด้งนี้
      1. ให้นักเรียนยกตัวอย่าง คำนาม คำสรรพนาม และคำกริยา เป็นการฝึกทักษะการคิด การสำรวจ การแยกแยะ และการจัดหมวดหมู่
      2. ให้นักเรียนอภิปรายการใช้คำนาม คำสรรพนาม และคำกริยา เป็นการฝึกให้ผู้เรียนใช้ทักษะการคิด การอภิปราย
      3. ให้นักเรียนช่วยกันสรุปความหมายของการใช้คำนาม คำสรรพนามและคำกริยา เป็นการฝึกทักษะการคิด การสรุป การให้คำจำกัดความ
      4. แบ่งหล่มนักเรียนให้นำคำนาม คำสรรพนามและคำกริยา มาแต่งเป็นประโยค เป็นการฝึกทักษะการคิด การเรียบเรียง การจัดลำดับ การเชื่อมโยง
      5. ให้นำคำนาม คำสรรพนามและคำกริยา มาแต่งนิทานหรือบทสนทนาตามจินตนาการ และจัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก เป็นการฝึกทักษะการคิด การจินตนาการ การเรียบเรียง การปฏิบัติงาน
      6. ให้นักเรียนเขียนคำศัพท์จากนิทานเรื่องยายเช้าปากกว้างเป็นภาษาอังกฤษ และแต่งประโยคด้วย เป็นการฝึกทักษะการคิด การสำรวจ การแยกแยะและการเชื่อมโยง

      บทบาทของครู
      1. เป็นผู้จัดการเรียนรู้
      2. เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียน
      3. เป็นผู้กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความคิด
      4. เป็นผู้จัดลำดับกิจกรรมที่ส่งเสริมการคิด
      5. เป็นผู้ตรวจสอบและประเมินความสามารถในการคิดของผู้เรียน
      บทบาทของผู้เรียน
      1. มีความกระตือรือร้นในการเรียน
      2. ทำกิจกรรมที่ครูผู้สอนจัดไว้ให้ด้วยความสนใจและตั้งใจ
      3. ศึกษา ค้นคว้า ด้วยตนเอง ระดมสมอง ร่วมคิด ร่วมทำ ให้ความร่วมมือกับครูผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นเรียน
      4. ใช้ทักษะการคิด ลักษะการคิดและกระบวนการคิดที่เหมาะสม
      5. ร่วมตรวจสอบและประเมินความสามารถในการคิดของตนเองและเพื่อนร่วมชั้น
      ดังนั้น ครูผู้สอนจะต้องเตรียมการจัดการเรียนรู้ให้พร้อม จะต้องวิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหา และจัดกิจกรรมตามลำดับจากทักษะการคิดขั้นพื้นฐานไปจนถึงทักษะการคิดขั้นสูง หรือลักษณะการคิด กระบวนการคิด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะหรือธรรมชาติของวิชาที่จะสอน วัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้น การสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดจึงใช้ได้กับทุกวิชา และกับผู้เรียนทุกวัย ขึ้นอยู่ที่การจัดกิจกรรมที่เหมาะสม