การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

โดย สมชาย พงศ์วิลาวัณย์  - 20 มิ.ย. 2547


การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ




      ปัจจุบันการปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย การจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การเรียนการสอนในแนวนี้ ทำให้เด็กเรียนรู้จากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น การจัดการเรียนการสอนต้องทำให้สอดคล้องกับความสามารถของเด็กแต่ละคน ทำให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ ผู้เรียนมีบทบาท และมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับผลงานข้อความรู้ที่สรุปได้ ( Process / Product )จากการศึกษาค้นคว้า นำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ ( Application ) ซึ่งแตกต่างจากการเรียนการสอนแบบเก่า ที่ยึดตัวครูเป็นศูนย์กลาง มุ่งสอนโดยการเน้นการท่องจำตามตำรา ผู้เรียนจึงไม่ได้เรียนรู้อย่างแท้จริง มองความสามารถของผู้เรียนไป
       แนวทางที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีความเชื่อพื้นฐานมาจากแนวคิดของ ณอง ณาคส์ รุสโซนักปรัชญาชาวฝรั่งเศล ( ค.ศ. 1712 - 1778 ) แสดงแนวคิดชัดเจนว่า เด็กสามารถเรียนรู้ได้ โดยไม่ต้องมีใครบอกกล่าว สิ่งสำคัญในการให้ความรู้กับเด็ก จึงไม่ใช่การสอน แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กคิดด้วยตนเอง

      จอห์น ดิวอี้ ( ค.ศ. 1859 - 1952 ) เชื่อว่าความสามารถในการเรียนรู้ ของเด็กจะต่างกันไปตามประสบการณ์ และสิ่งแวดล้อม บรรยากาศประชาธิปไตย และสังคมที่เปิดโอกาสให้เด็กเกิด และทำในสิ่งที่ชอบ จะทำให้เด็กพัฒนาความรู้ได้อย่างรวดเร็ว
      แนวคิด ความฉลาดที่หลากหลาย ( Multiple intelligences : MI ) ของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์ เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถ 8 ด้าน ติดตัวมาแต่กำเนิดอาจจะมากน้อยแตกต่างกันไปเนื่องจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม ความสามารถเหล่านี้ผลักดันให้มนุษย์แต่ละคน สนใจเรียนรู้เรื่องราวที่แตกต่างกัน ผู้เรียนแต่ละคนจึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุด จะออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อให้ตรงกับความสนใจ ความสามารถที่มี ความสามารถทั้ง 8 ประกอบด้วยความสามารถด้านตรรกะ ภาษา มิติสัมพันธ์ สัมผัส ดนตรี มนุษยสัมพันธ์ ความเข้าใจตนเองและธรรมชาติ
       บทบาทของครู ดร.เฟรด เอ็น ฟินลีย์ จากภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนามนุษย์ มหาวิทยาลัยมินเน โซตา เสนอว่า ครูยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดการเรียนรู้ โดยจะมีบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำ ซึ่งแบ่งหน้าที่ได้เป็น 4 ขั้นตอน
      1. เตรียมผู้เรียนให้พร้อม ( Preparation for conceptual change ) วิธีการคือ ครูต้องสังเกตและรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนต่อเรื่องที่จะเรียน เพื่อเป็นการทำความเข้าใจว่านักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด จากนั้นครูต้องพยายามทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกไม่พอใจ ในความรู้ที่มีอยู่ และอยากค้นหาความรู้ต่อด้วยตนเอง ท้ายที่สุดครูจะเปิดโอกาสให้เด็กรู้จักตัวเองว่าเขาต้องการอะไร และรู้จักคิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้เรียนรู้
      2. แนะนำองค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ( Introducing new knowledge and skills ) ในขั้นตอนนี้ครูจะต้องช่วยให้นักเรียนพบทางที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการแก้ปัญหาหรือช่วยให้สามารถทำงานสำเร็จลุล่วงลงได้ และเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความสามารถทางปัญญาในการทำความเข้าใจกับเรื่องต่างๆ ท้าทายให้นักเรียนเกิดความคิดใหม่ที่ต่างไปจากเดิมและสามารถหาเหตุผลมาอธิบายความคิดของตนเองได้
      3. การประยุกต์และบูรณาการ ( Application and integration ) ความรับผิดชอบของครูในขั้นตอนนี้คือ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจความคิดและความรู้ใหม่ๆอย่างถูกต้อง สามารถนำความรู้ใหม่นั้นไปบูรณาการเข้ากับความรู้ที่มีอยู่เดิมได้ และทำให้นักเรียนรู้ว่าองค์ความรู้ใหม่ที่ได้มานั้น มีประโยชน์กว่าความรู้ที่มีอยู่เดิมอย่างไร
       4. ส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติ ( Practice )ครูต้องหาโอกาสให้นักเรียนนำความรู้ใหม่ที่ได้ไปประยุกต์ใช้อย่างอิสระ โดยครูจะเป็นเพียงผู้คอยให้คำแนะนำไม่ใช่ผู้ชี้นำ



      สำหรับหลักในการจัดการศึกษา ที่ให้ผู้เรียนเป็นส่วนสำคัญที่สุดนั้น บาร์บาร่า แอล มัลคอมม์ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเดนเวอร์ได้นำเสนอว่า การจัดการเรียนการสอนตามแนวดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ ถ้ามีความเข้าใจที่ชัดเจนในพื้นฐาน 14 ประการ ซึ่งสามารถสรุปได้เป็นเป็น 4 ประเด็นดังนี้
            1. ปัจจัยทางด้านพุทธพิสัย ( Cognitive and Metacognitive Factors ) ต้องเข้าใจว่า ธรรมชาติของการเรียนรู้นั้นหากเป็นการเรียนในวิชาที่ยุ่งยากซับซ้อน ผู้เรียนจะประสบผลสำเร็จได้อย่างมากถ้าได้รับรู้ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น และได้รับการการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้รู้ โดยจะทำให้ผู้เรียนมีฐานความรู้แน่นและพร้อมที่จะนำความรู้เหล่านั้นไปเชื่อมต่อกับความรู้ใหม่ๆ ที่จะได้ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            2. ปัจจัยทางสังคมและการพัฒนา ( Developmental and Social Factors ) พัฒนาการทางการเรียนของผู้เรียนแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ตามโอกาสและประสบการณ์ ผู้เรียนที่ได้
ปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ได้สื่อสารกับผู้อื่นอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งผู้ที่มีโอกาสและความพร้อมทางอุปกรณ์ การเรียนและเทคโนโลยีมากกว่าผู้เรียนที่ไม่มีโอกาสและประสบการณ์เหล่านี้
            3. ปัจจัยด้านแรงจูงใจและลักษณะนิสัย ( Motivational and Affective Factoes ) ผู้เรียนที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้คือ ผู้เรียนที่มีความกระตือรือร้นต่อการค้นหาความรู้ ซึ่งความกระตือรือร้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นนิสัยส่วนตัวของผู้เรียนเอง แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นสิ่งเร้าภายนอกครูต้องค้นหาว่า สิ่งใดช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียนแต่ละคนได้ หากหาพบ จะทำให้นักเรียนมีโอกาสประสบความสำเร็จทางการเรียนรู้มากขึ้น
            4. ปัจจัยที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล ( Individual Differences Factors ) ต้องทำความเข้าใจว่าผู้เรียนแต่ละคนจะมีความสามารถ แนวคิดและกลวิธีในการเรียนที่ต่างกันอาจจะเป็นผลมาจากพื้นฐานทางภาษา สังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกัน

รูปแบบและวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ


            การเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีหลายรูปแบบ และหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งจะขอนำเสนอไว้เฉพาะชื่อ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้า และทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ครบถ้วนสืบไปดังนี้ ( กรมวิชาการ 2539. และ Apel and Comozzi . 1996 : 98 – 139 )
      เกมการศึกษา      ( Educational Game )
      สถานการณ์จำลอง       ( Simulation )
      กรณีตัวอย่าง            ( Case Study
      บทบาทสมมุติ ( Role - Play )
      โปรแกรมสำเร็จรูป      ( Programme Instruction )
      ศูนย์การเรียน            ( Learning Centre )
      ชุดการสอน            ( Instructional Package )
      คอมพิวเตอร์ช่วยสอน      ( Computer Assisted )
      โครงงาน            ( Project )
      การทดลอง       ( Experimentary )
      การใช้คำถาม            
      อภิปรายกลุ่มย่อย ( Small Group Discuss )
       การแก้ปัญหา      ( Problem - Solving )
      สืบสวนสอบสวน      ( Inquiry )
      กลุ่มสืบค้นความรู้      (Group Investication )
      การเรียนรู้แบบร่วมมือ ( Cooperative Learning )
       อริยสัจ 4       ( 4 Noble Truth Method )
      ทัศนศึกษานอกสถานที่ ( Field Trip )
      โมเดลซิปปา (CIPPA Model)


เกมการศึกษา ( Educational Game )



      วิธีการสอนโดยใช้เกม คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการให้ผู้เรียนเล่นตามกติกา เงื่อนไข และนำข้อมูลของเกม พฤติกรรมการเล่น วิธีการเล่น และผลการเล่นเกมของผู้เรียนมาใช้ในการอภิปราย เพื่อสรุปผลการเรียนรู้มีขั้นตอนดังนี้
            ขั้นที่ 1      ผู้สอนนำเสนอเกม ชี้แจงวิธีการเล่น และกติกาการเล่น
            ขั้นที่ 2      ผู้เรียนเล่นเกมตามกติกา
            ขั้นที่ 3      ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับผลการเล่นและวิธีการ เล่น หรือพฤติกรรมการเล่นของผู้เรียน
            ขั้นที่ 4      ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน


สถานการณ์จำลอง ( Simulation )



      วิธีการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยให้ผู้เรียนลงไปเล่นในสถานการณ์ที่มีบทบาท ข้อมูล และกติกาการเล่นที่สะท้อนความเป็นจริง และมีปฎิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในสถานการณ์นั้น โดยใช้ข้อมูลที่มีสภาพคล้ายกับข้อมูลในความเป็นจริง ในการตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งการตัดสินใจนั้นจะส่งผลถึงผู้เล่นในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง มีขั้นตอนดังนี้
            ขั้นที่ 1      ผู้สอนเตรียมสถานการณ์จำลอง
            ขั้นที่ 2      ผู้สอนนำเสนอสถานการณ์จำลอง บทบาท ข้อมูล และ กติกาการเล่น
            ขั้นที่ 3      ผู้เรียน เลือกบทบาทที่จะเล่น หรือผู้สอนกำหนดบทบาทให้ ผู้เรียน
            ขั้นที่ 4       ผู้เรียนเล่นตามกติกาที่กำหนด
            ขั้นที่ 5      ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ ข้อมูล และกติกาของสถานการณ์ วิธีการเล่น พฤติกรรม การเล่น และผลการเล่น
            ขั้นที่ 6      ผู้สอนและผู้เรียนสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับจากการเล่น
            ขั้นที่ 7      ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

กรณีตัวอย่าง ( Case )



      วิธีการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยให้ผู้เรียนศึกษาเรื่องที่สมมติขึ้นจากความเป็นจริงและตอบประเด็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้น แล้วนำคำตอบและเหตุผล ที่มาของคำตอบนั้นมาใช้เป็นข้อมูลในการอภิปรายเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ มีขั้นตอนดังนี้
            ขั้นที่ 1      ผู้สอน / ผู้เรียน นำเสนอกรณีตัวอย่าง
            ขั้นที่ 2      ผู้เรียนศึกษากรณีตัวอย่าง
            ขั้นที่ 3       ผู้เรียนอภิปรายประเด็นคำถามเพื่อหาคำตอบ
            ขั้นที่ 4      ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายคำตอบ
            ขั้นที่ 5      ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับปัญหา และวิธีแก้ปัญหาของผู้เรียนและสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ
            ขั้นที่ 6      ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน


บทบาทสมมติ ( Role – Play )



      วิธีการสอนโดนใช้บทบาทสมมติ คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการให้ผู้เรียนสวมบทบาทในสถานการณ์ ซึ่งมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง และแสดงออกตามความรู้สึกนึกคิดของตนเอง และนำเอาการแสดงออกของ ผู้แสดงทั้งด้านความรู้ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่สังเกตพบมาเป็นข้อมูลในการอภิปราย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ มีขั้นตอนดังนี้
            ขั้นที่ 1      ผู้สอน / ผู้เรียน นำเสนอสถานการณ์สมมติ และบทบาทสมมติ
            ขั้นที่ 2      ผู้สอน / ผู้เรียน เลือกผู้แสดงบทบาท
            ขั้นที่ 3      ผู้สอนเตรียมผู้สังเกตการณ์
            ขั้นที่ 4      ผู้เรียนแสดงบทบาทและสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออก
            ขั้นที่ 5      ผู้สอนและผู้เรียน อภิปรายเกี่ยวกับความรู้ ความคิด ความ รู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้เรียน
            ขั้นที่ 6      ผู้สอนและผู้เรียนสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ
            ขั้นที่ 7      ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

โปรแกรมสำเร็จรูป ( Programme Instruction )



      วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการให้ผู้เรียนศึกษาจากบทเรียนสำเร็จรูปด้วยตนเอง ซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากบทเรียนปกติ กล่าวคือ เป็นบทเรียนที่นำเนื้อหาสาระที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มาแตกเป็นหน่วยย่อย (Small Steps ) เพื่อให้ง่ายแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้ และนำเสนอแก่ผู้เรียนในลักษณะที่ให้ผู้เรียนสามารถตอบสนองสิ่งที่เรียน และตรวจสอบการเรียนรู้ของตนเองได้ทันที ( Immediately feedback ) ว่าผิดหรือถูก ผู้เรียนสามารถใช้เวลาในการเรียนรู้มากน้อยตามความสามารถ และสามารถตรวจสอบผลการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพราะบทเรียนจะมีแบบทดสอบทั้งแบบทดสอบก่อนการเรียน ( Pre – test ) และแบบทดสอบหลังเรียน ( Post – test ) ไว้ให้พร้อมมีขั้นตอนดังนี้
            ขั้นที่ 1      ผู้สอนศึกษาปัญหา ความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
            ขั้นที่ 2      ผู้สอนเลือก แสวงหา สร้าง บทเรียนโปรแกรม ในเรื่องที่ตรงกับปัญหาความต้องการ หรือความสนใจของผู้เรียน
            ขั้นที่ 3      ผู้สอนแนะนำการใช้บทเรียนแบบโปรแกรมให้ผู้เรียนเข้าใจ
            ขั้นที่ 4      ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาบทเรียนแบบโปรแกรมด้วยตนเอง
            ขั้นที่ 5      ผู้เรียนทดสอบการเรียนรู้ของตนด้วยตนเอง หรือมารับการ ทดสอบจากผู้สอน

ศูนย์การเรียน ( Learning Center )



      วิธีการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากศูนย์การเรียนหรือมุมความรู้ ซึ่งผู้สอนไดจัดเตรียมเนื้อหาสาระและกิจกรรมที่ใช้สื่อการสอนหลายๆอย่างประสมกันเอาไว้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ปกติศูนย์การเรียนจะมีหลายศูนย์ แต่ละศูนย์จะมีเนื้อหาสาระเบ็ดเสร็จในตัว ผู้เรียนจะหมุนเวียนกันเข้าศูนย์ต่างๆจนครบทุกศูนย์ โดยมีศูนย์สำรองไว้สำหรับผู้เรียน ที่เรียนรู้ได้เร็วและทำกิจกรรมเสร็จก่อนคนอื่นๆ ผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้จัดเตรียมศูนย์การเรียน ให้คำแนะนำ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน และประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
            ขั้นที่ 1      ผู้สอนจัดเตรียมชุดการเรียนการสอน และจัดศูนย์การเรียน
            ขั้นที่ 2      ผู้สอนให้คำชี้แจงและคำแนะนำแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้โดยใช้ศูนย์การเรียน
            ขั้นที่ 3      ผู้เรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน
            ขั้นที่ 4       ผู้เรียนศึกษาและทำกิจกรรมตามบัตรคำสั่งในศูนย์ต่างๆ ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นรายบุคคล จนครบทุกศูนย์ หรือครบทุกเนื้อหา
            ขั้นที่ 5      ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

ชุดการสอน ( Instructional Package )



      การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอน เป็นกระบวนการเรียนรู้จากชุดการสอน เป็นสื่อการสอนชนิดหนึ่งที่เป็นลักษณะของสื่อประสม (Multi – media ) เป็นการใช้สื่อตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปร่วมกันเพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ที่ต้องการ โดยอาจจัดขึ้นสำหรับหน่วยการเรียนตามหัวข้อ เนื้อหา และประสบการณ์ ของแต่ละหน่วยที่ต้องการจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ อาจจัดเอาไว้เป็นชุดๆ บรรจุในกล่อง ซองหรือกระเป๋า ชุดการสอนแต่ละชุดประกอบด้วยเนื้อหาสาระ บัตรคำสั่ง / ใบงานในการทำกิจกรรม วัสดุอุปกรณ์ เอกสาร / ใบความรู้ เครื่องมือหรือสื่อที่จำเป็นสำหรับกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งแบบวัดประเมินผลการเรียนรู้ มีขั้นตอนดังนี้
            ขั้นที่ 1      ขั้นทดสอบก่อนเรียน เพื่อพิจารณาความรู้เดิมของผู้เรียน
            ขั้นที่ 2      ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความกระตื้อรือร้นที่จะเรียนรู้
            ขั้นที่ 3      ขั้นประกอบกิจกรรมการเรียน ผู้สอนชี้แจงหรืออธิบายให้เข้าใจอย่างละเอียด ทุกขั้นตอนก่อนลงมือทำกิจกรรม
            ขั้นที่ 4      ขั้นสรุปบทเรียน ผู้สอนนำสรุปโดยการถาม เพื่อให้ผู้เรียนสรุปความเข้าใจหรือสาระที่ได้จากการเรียนรู้
            ขั้นที่ 5      ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ( Computer Assisted Instruction )



      การจัดการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนที่อาศัยคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยี ระดับสูงมาประยุกต์ใช้ เป็นสื่อ หรือเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ โดยจัดเนื้อหาสาระหรือประสบการณ์สำหรับให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ อาจจัดเป็นลักษณะบทเรียน หน่วยการเรียน หรือโปรแกรมการเรียน มีขั้นตอนดังนี้
            ขั้นที่ 1      ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เสนอรูปแบบวิธีการที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นลักษณะภาพเคลื่อนไหว เสียงหรือผสมผสานหลายๆอย่างเข้าด้วยกันเพื่อความสนใจของผู้เรียน
            ขั้นที่ 2      ขั้นการเสนอเนื้อหา ให้ผู้เรียนเลือกเรียน และมีการชี้แนะ หรือจัดเนื้อหาสำหรับการช่วยเหลือผู้เรียน
            ขั้นที่ 3      ขั้นคำถามและคำตอบ ให้ทำแบบฝึกหัดชนิดคำถาม แบบเลือกตอบ ฯลฯ ซึ่งคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถเสนอแบบฝึกแก่ผู้เรียนได้
            ขั้นที่ 4      ขั้นการตรวจคำตอบคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะตรวจคำตอบและแจ้งผลให้ผู้เรียนทราบ
            ขั้นที่ 5      ขั้นการปิดบทเรียน เมื่อจบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะทำการประเมินผลผู้เรียนโดยการทำแบบทดสอบ

โครงงาน ( Project )



      การเรียนรูแบบโครงงาน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษา ค้นคว้า และลงมือปฏิบัติกิจกรรมตามความสนใจ ความถนัด และความสามารถของตนเอง ซึ่งอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือกระบวนการอื่นๆ ที่เป็นระบบ ไปใช้ในการศึกษาหาคำตอบในเรื่องนั้นๆ ภายใต้คำแนะนำ ปรึกษา และความช่วยเหลือจากผู้สอนหรือผู้ที่เชี่ยวชาญ เริ่มตั้งแต่การเลือกหัวข้อที่จะศึกษา การวางแผน การดำเนินงานตามขั้นตอนที่กำหนด ตลอดจนการนำเสนอผลงาน ซึ่งในการจัดทำโครงงานนั้นสามารถทำได้ทุกระดับชั้นอาจเป็นรายบุคคล หรือทีม จะกระทำในเวลาเรียน หรือนอกเวลาเรียนก็ได้ มีขั้นตอนดังนี้
      ขั้นที่ 1      การเลือกหัวข้อเรื่อง หรือปัญหาที่จะศึกษา
      ขั้นที่ 2      การวางแผน ประกอบด้วย
      -การกำหนดจุดประสงค์
      -การตั้งสมมติฐาน
      -การกำหนดวิธีการศึกษา
      ขั้นที่ 3      การลงมือปฏิบัติ
      ขั้นที่ 4      การเขียนรายงาน
      ขั้นที่ 5      การนำเสนอผลงาน

การทดลอง ( Experiment )



      วิธีการสอนโดยใช้การทดลอง คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการที่ผู้สอน / ผู้เรียนกำหนดปัญหา และสมมติฐานในการทดลอง ผู้สอนให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน และให้ผู้เรียนลงมือทดลอง ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดโดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล สรุปอภิปรายผลการทดลองและสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับจากการทดลอง มีขั้นตอนดังนี้
            ขั้นที่ 1      ผู้เรียน / ผู้สอน กำหนดปัญหาและสมมติฐานในการทดลอง
            ขั้นที่ 2      ผู้สอนให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการทดลอง ให้ขั้นตอน และรายละเอียดในการทดลองแก่ผู้เรียน โดยใช้วิธีการต่างๆ ตามความเหมาะสม
            ขั้นที่ 3      ผู้เรียนลงมือทดลองโดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นตามขั้นตอนที่กำหนดและบันทึกข้อมูลการทดลอง
            ขั้นที่ 4      ผู้เรียนวิเคราะห์และสรุปผลการทดลอง
            ขั้นที่ 5      ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายผลการทดลองและสรุปการเรียนรู้

การใช้คำถาม



      การจัดการเรียนรู้แบบใช้คำถาม เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนากระบวนการทางความคิดของผู้เรียนโดยผู้สอนจะป้อนคำถามในลักษณะต่างๆ ที่เป็นคำถามที่ดี สามารถพัฒนาความคิดผู้เรียน ถามเพื่อให้ผู้เรียนใช้ความคิดเชิงเหตุผล วิเคราะห์ วิจารณ์ สังเคราะห์ หรือการประเมินค่า เพื่อตอบคำถามเหล่านั้น มีขั้นตอนดังนี้
      ขั้นที่ 1      วางแผนการใช้คำถาม ผู้สอนควรมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะใช้คำถามเพื่อวัตถุประสงค์ใด รูปแบบหรือประการใด จะสอดคล้องกับเนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์ของบทเรียน
      ขั้นที่ 2      การเตรียมคำถาม ผู้สอนควรจะเตรียมคำถามที่จะใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยการสร้างคำถามอย่างมีหลักเกณฑ์
      ขั้นที่ 3      การใช้คำถาม ผู้สอนสามารถจะใช้คำถามในทุกขั้นตอนของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แต่ต้องเหมาะสมกับเนื้อหาสาระ
และสถานการณ์นั้น ๆ
      ขั้นที่ 4      การสรุปและประเมินผล
      -การสรุปบทเรียน ผู้สอนอาจใช้คำถามเพื่อสรุปบทเรียนก็ได้
      -การประเมินผล ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันประเมินผลการเรียนรู้

อภิปรายกลุ่มย่อย ( Small Group Discuss )



      วิธีการสอนโดยการใช้การอภิปรายกลุ่มย่อย คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการจัดผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 4 – 8 คนและให้ผู้เรียนในกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และประสบการณ์ในประเด็นที่กำหนดและสรุปผลการอภิปรายออกมาเป็นข้อสรุปของกลุ่ม มีขั้นตอนดังนี้
            ขั้นที่ 1      ผู้สอนจัดผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มละประมาณ 4 – 8 คน
            ขั้นที่ 2      ผู้สอน / ผู้เรียนกำหนดประเด็นในการอภิปราย
            ขั้นที่ 3      ผู้เรียนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตามประเด็นอภิปราย
            ขั้นที่ 4      ผู้เรียนสรุปสาระที่สมาชิกกลุ่มได้อภิปรายร่วมกันเป็นข้อสรุปของกลุ่ม
            ขั้นที่ 5      ผู้สอนและผู้เรียนนำข้อสรุปของกลุ่มย่อยมาใช้ในการสรุปบทเรียน
            ขั้นที่ 6      ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

การแก้ปัญหา ( Problem – Solving )



      การจัดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหา คือกระบวนการที่ผู้สอนเน้นให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นกระบวนการ มีขั้นตอน มีเหตุผลด้วยตนเอง โดยเริ่มตั้งแต่มีการกำหนดปัญหา วางแผนแก้ปัญหา ตั้งสมมติฐาน เก็บรวบรวมข้อมูล พิสูจน์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผล มีขั้นตอนดังนี้
      ขั้นที่ 1      ขั้นเตรียม
      -ศึกษาแผนการจัดการเรียนรู้
      -กำหนดกิจกรรม
      ขั้นที่ 2      ขั้นการเรียน
      -กำหนดปัญหา
      -วางแผนแก้ปัญหา
      -ตั้งสมมติฐาน
      -เก็บรวบรวมข้อมูล
      -วิเคราะห์ข้อมูลและทดสอบสมมติฐาน
      -สรุปผล
      ขั้นที่ 3      ขั้นประเมินผล ผู้สอนและผู้เรียน ร่วมกันประเมินผลการเรียนรู้


สืบสวน สอบสวน ( Inquiry )


การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน คือกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการฝึกให้ผู้เรียน รู้จักการศึกษาค้นคว้าหาความรู้โดยผู้สอนตั้ง คำถามกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการทางความคิด หาเหตุผลจนค้นพบความรู้หรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องด้วยตนเอง สรุปเป็นหลักการ กฎเกณฑ์หรือวิธีการในการแก้ปัญหาและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการควบคุมปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือสร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อมในสภาพการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขว้าง มีขั้นตอนดังนี้
            ขั้น “สน” ( สังกัปกับแนวหน้า ) เตรียมความพร้อมของผู้เรียนโดยการดึงเอาความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียนที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งที่จะสอนให้มาสัมพันธ์กัน
            ขั้น “ส” ( สังเกตสถานการณ์ ) สร้างสถานการณ์ที่เป็นปัญหาขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้ สังเกตและวิเคราะห์
            ขั้น “อ” ( อธิบายปัญหาข้องใจ ) การหาเหตุผลมาอธิบายถึงสาเหตุของปัญหา
            ขั้น “ท” ( ทำนายผล ) การตั้งสมมติฐานเพื่อดูว่าคำอธิบายถูกต้องมากน้อยเพียงใด
            ขั้น “ค” ( ควบคุม ) นำผลของการแก้ปัญหา มาปฏิบัติใช้ในชีวิตจริง

กลุ่มสืบค้นความรู้ ( Group Investigation )



      การจัดการเรียนรู้แบบสืบค้นความรู้ คือกระบวนการที่เน้นให้ผู้เรียนมีอิสระในการศึกษาหาความรู้ตามหลักประชาธิปไตย รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานระบบกลุ่ม การศึกษาหาความรู้จากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ส่งผลทำให้ผู้เรียนเกิดนิสัยรักการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองได้ด้วยความมั่นใจ มีขั้นตอนดังนี้
      ขั้นที่ 1      เสนอปัญหา ผู้สอนนำเสนอปัญหาให้ผู้เรียนคิดหาคำตอบ
      ขั้นที่ 2      พิจารณาปัญหา
       -ผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมกันพิจารณาปัญหา
       -แบ่งกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย ให้กลุ่มเลือกปัญหาศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล
      ขั้นที่ 3      วางแผน ผู้เรียนแต่ละกลุ่มวางแผนการทำงาน
      ขั้นที่ 4      ลงมือปฏิบัติ ผู้เรียนปฏิบัติงานตามแผนที่ร่วมกันวางไว้
      ขั้นที่ 5      รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและเสนอผลงาน
      ขั้นที่ 6      ทบทวนและเชื่อมโยงปัญหาใหม่ ผู้เรียนร่วมกันพิจารณาทบทวนแต่ละประเด็นปัญหา

การเรียนรู้แบบร่วมมือ ( Cooperative Learnning )



      การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียน ได้ร่วมมือและช่วยเหลือกันในการเรียนรู้ โดยแบ่งกลุ่มผู้เรียนที่มีความสามารถต่างกันออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นลักษณะการรวมกลุ่มอย่างมีโครงสร้างที่ชัดเจน มีการทำงานร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตนและส่วนรวม เพื่อให้ตนเองและสมาชิกทุกคนในกลุ่มประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีขั้นตอนดังนี้
      ขั้นที่ 1      ขั้นเตรียม
       -แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้
       -จัดขนาดของกลุ่ม
      -จัดผู้เรียนเข้ากลุ่ม
      -จัดชั้นเรียน
      -จัดเตรียมสื่อและแหล่งเรียนรู้
      ขั้นที่ 2      ขั้นเริ่มบทเรียน
      -จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม
      -อธิบายภาระงาน
      -สร้างข้อตกลงการประเมินผล
      -เสริมสร้างความรับผิดชอบ
      -กำหนดพฤติกรรมทางสังคมที่พึงปรารถนา
      ขั้นที่ 3 ขั้นดูแลกำกับการเรียนรู้
       -สังเกตพฤติกรรมและความก้าวหน้า
      -ร่วมเรียนรู้
      -สรุปผลการเรียนรู้
      ขั้นที่ 4 ขั้นการประเมินผล
      -ประเมินผลด้านวิชาการ
      -ประเมินผลด้านสังคม

อริยสัจ 4 (4 Noble Truth Method )



      การจัดการเรียนรู้ตามขั้นทั้ง สี่ของอริยสัจ เป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ โดยผู้เรียนพยายามค้นคิดวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยลำดับขั้นตอนทั้งสี่ขั้นของอริยสัจ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาด้วยตนเอง มีขั้นตอนดังนี้
      ขั้นที่ 1      กำหนดปัญหา ( ขั้นทุกข์ )
       -ผู้สอนกำหนดและนำเสนอปัญหาให้ผู้เรียนทำความเข้าใจ ต่อปัญหานั้นตรงกัน
       -ผู้สอนช่วยผู้เรียนให้ได้ศึกษาพิจารณาดูปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย ตนเอง
       ขั้นที่ 2      ตั้งสมมติฐาน ( ขั้นสมุทัย )
       -ผู้สอนช่วยผู้เรียน พิจารณาหาสาเหตุของปัญหา
      -ผู้สอนช่วยผู้เรียน เกิดความเข้าใจและตระหนักในการ แก้ปัญหา
      ขั้นที่ 3      ทดลองและเก็บข้อมูล ( ขั้นนิโรธ )
      -การทำงานเป็นกลุ่ม การจดบันทึกข้อมูล
      ขั้นที่ 4      วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผล ( ขั้นมรรค )
       -ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลที่บันทึก
      -ผู้เรียนช่วยกันกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ


ทัศนศึกษานอกสถานที่ (Field Trip )



      วิธีสอนโดยใช้การไปทัศนศึกษา คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันวางแผน และเดินทางไปศึกษาเรียนรู้ ณ สถานที่อันเป็นแหล่งความรู้ในเรื่องนั้น ( ซึ่งอยู่นอกสถานที่ที่เรียนกันอยู่เป็นปกติ ) โดยมีการศึกษาสิ่งต่าง ๆ ในสถานที่นั้นตามกระบวนการ หรือวิธีการที่ได้วางแผนไว้ และมีการอภิปรายสรุปการเรียนรู้จากข้อมูลที่ได้ศึกษา มีขั้นตอนดังนี้
            ขั้นที่ 1      ผู้สอนและผู้เรียนวางแผนร่วมกันในเรื่องวัตถุประสงค์สถานที่ ที่จะไป การเดินทาง สิ่งที่จะไปศึกษา วิธีศึกษา ค่าใช้จ่าย กำหนดการ และหน้าที่ความรับผิดชอบ
            ขั้นที่ 2      ผู้สอนและผู้เรียนเดินทางไปยังสถานที่เป้าหมาย
            ขั้นที่ 3      ผู้เรียนศึกษาสิ่งต่างๆ ในสถานที่นั้นตามกระบวนการหรือวิธีการศึกษาที่ได้วางแผนไว้
            ขั้นที่ 4      ผู้สอนและผู้เรียน เดินทางกลับและสรุปผลการเรียนรู้ หรือผู้สอนและผู้เรียนสรุปผลการเรียนรู้และเดินทางกลับ
            ขั้นที่ 5      ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

โมเดลซิปปา ( CIPPA Model )



      เป็นหลักการซึ่งสามารถนำไปใช้ เป็นหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ให้แก่ผู้เรียน การจัดกระบวนการเรียนการสอนตามหลัก “CIPPA” นี้สามารถใช้วิธีการและกระบวนการที่หลากหลาย ซึ่งอาจจัดเป็นแบบแผนได้หลายรูปแบบ มีขั้นตอนดังนี้
      ขั้นที่ 1      การทบทวนความรู้เดิม
      - ดึงความรู้เดิมของผู้เรียนในเรื่องที่จะเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการ เชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน
      ขั้นที่ 2      การแสวงหาความรู้ใหม่
      - ผู้เรียนแสวงหาข้อมูลความรู้ใหม่จากแหล่งความรู้ต่างๆ
      ขั้นที่ 3      การศึกษาทำความเข้าใจข้อมูล/ความรู้ใหม่ และเชื่อมโยง ความรู้ใหม่กับความรู้เดิม
      ขั้นที่ 4      การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม
            - ผู้เรียนอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสภาพความรู้ ความเข้าใจของตน
       ขั้นที่ 5      การสรุปและการจัดระเบียบความรู้
            - ผู้เรียนสรุปความรู้ที่ได้รับทั้งหมด ทั้งความรู้เดิมและ ความรู้ใหม่
      ขั้นที่ 6      การปฏิบัติ และ / หรือการแสดงผลงานผู้เรียนลงมือปฏิบัติและแสดงผลงานที่ได้ปฏิบัติ
      ขั้นที่ 7      การประยุกต์ใช้ความรู้
            - ผู้เรียนนำความรู้ความเข้าใจของตนเองไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ
      ขั้นตอนที่ 1 – 6 เป็นกระบวนการของการสร้างความรู้ ( Construction of knowledge ) ซึ่งครูสามารถจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนมีโอกาสปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ( Interaction ) และฝึกฝนทักษะกระบวนการต่าง ๆ ( Process learning ) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขั้นตอนแต่ละขั้นตอนช่วยให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมหลากหลาย มีลักษณะให้ผู้เรียนได้มีเคลื่อนไหวทางกาย ทางสติปัญญา ทางอารมณ์ และทางสังคม อย่างเหมาะสม อันช่วยให้ผู้เรียนตื่นตัว ( Active ) สามารถรับรู้และเรียนรู้ได้อย่างดี จึงกล่าวได้ ขั้นตอนทั้ง 6 มีคุณสมบัติตามหลัก “CIPPA” ส่วนขั้นตอนที่ 7 เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ ( Application ) จึงทำให้ได้รูปแบบที่มีคุณสมบัติครบตามหลัก “CIPPA”


บทสรุป
      ความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ อยู่ที่ความเป็นครูมืออาชีพที่มุ่งมั่นคิดค้น แสวงหาวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวิจารณญาณในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข การยึดถือแนวการสอนไม่ว่าจะแบบใดมากเกินไป อาจทำให้แนวคิดนั้น กลายเป็นหลักเกณฑ์ที่เลื่อนลอย ( Dogma ) ซึ่งจะมีผลกดดันทั้งต่อครู และผู้เรียน วิธีที่ดีที่สุดจึงควรเลือกการสอนตามความเหมาะสม เพราะการศึกษาในความเป็นจริงนั้นย่อมมีทั้งการเลียนแบบ และการริเริ่มสร้างสรรค์ความรู้ใหม่