ต้นขะจาว

โดย อรีวรรณ สุภานนท์  - 12 พ.ย. 2548




ต้นขะจาว เป็นต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัดลำปาง ถ้าหากจะพูดถึงต้นขะจาวตามตำนานพระธาตุลำปางหลวงแล้ว มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นขะจาว หรือไม้ขะจาวดังว่า...
ไม้ขะจาว ปลูกครั้งพุทธกาล เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ที่ครั้งหนึ่งได้มีมีชาวลัวะคนหนึ่งได้นำ กิ่งขะจาวทำเป็นไม้คานหาบกระบอกน้ำผึ้ง มะพร้าวและมะตูม มาถวายพระพุทธองค์ซึ่งประทับอยู่ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง ภายหลังอธิษฐานนำไม้ขะจาว โดยใช้ทางปลายปักลงไม่นานไม้คานที่ปักไว้ ก็แตกกิ่งก้านเจริญเติบโตเกิดเป็นกิ่งก้านสาขาขึ้นมา สร้างความแปลกใจให้ชาวบ้าน และชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงได้นำเอารากไม้ขะจาวไปบูชาหรือนำไปเป็นเครื่องรางของขลังห้อยคอเช่นเดียวกับ ตระกุดผ้ายันต์
ตำนานต้นขะจาว เป็นเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมาช้านาน เป็นตำนานและเป็นสิ่งสำคัญที่มี หลักฐานคงอยู่ให้ผู้ที่ได้ไปเที่ยวชมวัดพระธาตุลำปางหลวง ได้แวะชม ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงนี้มีตำนานเล่าเรื่องต้นขะจาวดังข้างต้น เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังคงมีต้นขะจาวที่เห็นลักษณะลำต้นที่มีส่วนปลายปักอยู่บนพื้นดิน และส่วนลำต้นนั้นมีกิ่งก้านงอกออกมาเต็มไปหมด แต่กิ่งก้านนั้นจะชี้ลงดิน พอนานไปลำต้นเดิม ก็แห้งพุพังจนไม่เห็นซากเดิมของต้นขะจาว มีแต่ต้นที่งอกออกมาตรงส่วนเดิมของต้นขะจาวนั้นเป็นพุ่มใหญ่ บางส่วนสูงมองดูไกล ๆ เหมือนต้นโพธิ์



ในบริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงเมื่อขึ้นบันไดวัดด้านหน้า จะมีต้นขะจาว ขึ้นอยู่ทางด้านซ้ายมือ ทางวัดได้บูรณะวัดและได้ก่อปูนซีเมนต์ล้อมรอบบริเวณ ต้นขะจาว ซึ่งเมื่อก่อนนั้นต้นขะจาว จะปรากฏอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ ยังเห็นซากเดิมของต้นขะจาวที่เล่ากล่าวขาน กันอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ก็จะเห็นต้นขะจาวปราก ดังภาพ(ถ่ายเมื่อ 20 ตุลาคม 2548)

ต้นขะจาวที่วัดพระธาตุลำปางหลวง


ด้านหน้าบริเวณต้นขะจาว ก็จะมีป้ายเล่าความเป็นมาของต้นขะจาว ให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้ไปสักการะพระบรมธาตุ ชายลัวะที่ได้กล่าวไว้ในตำนานนั้น มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ทำไมถึงต้องนำกิ่งขะจาวมาทำเป็นไม้คาน และ ทำไม่ถึงเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้
ลัวะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญ – เขมร เป็นกลุ่มชนที่อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาเดียวกับชาวิ่น ขาวขมุ และมระบุรี(ผีตองเหลืองป แต่ชาวลัวะเรียกตนเองว่า ละว้า ซึ่งเป็นชนชาติที่มีพื้นเพเดิมอยู่ใน
แหลมอินโดจีนทางตอนกลางแหลมอินโดจีน โดยเฉพาะที่ละว้าปุระ คือ เมืองลพบุรีปัจจุบัน แล้วอพยพ ขึ้นไปทางเหนือโดยยึดลำน้ำปิงเป็นแนวทางการเดินทาง พวกแรก ๆ ได้อพยพขึ้นไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตาม ฝั่งแม่น้ำคง (สาละวิน) ในรัฐไทใหญ่ของพม่า ส่วนพวกที่ตามมาทีหลังก็พากันตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจาย อยู่ตามลุ่มแม่น้ำปิงและกลุ่มนี้ตอนหลังจะผสมผสานจนกลายเป็น “คนเมือง” ที่กระจัดกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ แต่ยังคงถือปฏิบัติพิธีกรรมการไหว้ผีลัวะ
ชาวลัวะเป็นกลุ่มชนที่เชื่อในเรื่องพิธีกรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ชุมชนชาวลัวะที่อาศัยอยู่ในเวียงโบราณ “ป่าเวียง” มีสถานที่ที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน เช่น ป่าช้าลัวะ(มีหินตั้งล้อมรอบแสดงอาณาเขต) ตาดตุง(ถุง)ลัวะ ที่บ้านป่าเวียงมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลัวะคือ ต้นขะจาว ที่มีขนาดใหญ่มาก ที่เป็นที่ตั้งของศาลเสื้อบ้านของหมู่บ้าน



ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวลัวะคือ ต้นขะจาว คงไม่แปลกที่ชายลัวะจะนำกิ่งขะจาวมาทำเป็นไม้คาน หาบกระบอกน้ำผึ้ง มะพร้าว มะตูม มาถวายพระพุทธเจ้า ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง และเอาไม้คานปักลงบนพื้นดินโดยนำส่วนปลายไม้คาน ก็คือ ส่วนปลายของกิ่งขะจาว ปักลงบนพื้นดิน และอธิษฐานตามความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวลัวะ


จากความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นนี้ จึงทำให้ชาวบ้านนำมาเล่าเป็นตำนานสืบต่อกันมา และ เชื่อกันว่า ต้นขะจาวเป็นต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ บ้างก็ขุดเอารากต้นขะจาวไปบูชา และนำไปเป็นเครื่องราง ของขลังป้องกันตัว การขุดรากขะจาวนั้นเขาไม่ใช้เสียมที่เป็นโลหะขุด มีความเชื่อเช่นใดยังไม่ทราบ เขาจะใช้ไม้มะขามมาทำเป็นเสียมแทน แล้วใช้ขุดรากต้นขะจาว เพื่อนำไปทำวัตถุบูชา ก็คงไม่พ้นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์



ถ้าจะพูดถึงต้นขะจาวตามหลักของพืชพันธุ์ไม้แล้ว ต้นขะจาวก็เป็นต้นไม้ ที่มีลักษณะ ไม่แปลกไปจากต้นไม้ทั่วไป





ต้นขะจาวนั้นเป็นพันธุ์ไม้ที่มีชื่อทั่วไปว่า ขะจาว

ชื่อสามัญ คือ Indian Elm

ชื่อวิทยาศาสตร์ Holoptelea integrifolia (Roxb.) Planch.

วงศ์ URTICACEAE

ชื่ออื่น ๆ กระเจา กระเชา (ภาคกลาง), กระเจาะ ขะเจา(ภาคใต้), กระเช้า (กาญจนบุรี), กะเซาะ (ราชบุรี), กาซาว (เพชรบุรี), ขะจาวแดงฮังคาว (ภาคเหนือ), ตะสี่แค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), พูคาว (นครพนม), มหาเหนียว (นครราชสีมา), ฮ้างค้าว (อุดรธานี, เชียงราย, ชัยภูมิ), ขะจาว (ทั่วไป)
ประเภท ไม้ยืนต้น

ลักษณะทั่วไป
เป็นไม้ยืนต้นสูง 25 เมตร ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรงเปลือกสีน้ำตาลปนเทา มีต่อมระบายอากาศเป็นจุดกลมเล็ก ๆ สีขาวมองเห็นได้ง่าย เรือนยอดเป็นพุ่มรูปไข่กว้างค่อนข้างทึบ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียง สลับ แผ่นใบรูปรีป้อม โคนใบมนหรือป้าน ปลายใบเรียวแหลม ก้านใบมีขน ออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ดอกขนาดเล็ก แยกเพศเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ผลเป็นรูป โล่แบน มีปีกบางล้อมรอบ มีก้านเกสรเพศเมีย 2 อันติดอยู่ส่วนบนสุด บริเวณปีกมีลายเส้นออกเป็นรัศมีโดยรอบ



การขยายพันธ์ โดยการเพาะเมล็ด
สภาพที่เหมาะสม ดินทุกชนิด ต้องการน้ำปานกลาง ทนแล้ง ขึ้นอยู่ในป่าเบญจพรรณแล้ง และชื้น ถิ่นกำเนิด ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และตะวันออกของประเทศไทย
ประโยชน์ ต้นขะจาวเป็นไม้เนื้อแข็ง มีเปลือกหุ้มต้นที่เหนียวมาก มีกลิ่นเหม็นเขียว จึงสามารถนำมาทำประโยชน์ได้มากมาย ปลูกในบริเวณสวนข้างทาง เพราะมีร่มไม้ที่โปร่งสูงกันแดดได้ดี ใช้ทำสิ่งก่อสร้าง ที่อยู่ในร่ม ทำเครื่องมือทางการเกษตร เช่น ด้ามจอบ เสียม ทำพานท้ายปืน เปลือกทำยารักษาเรื้อนของสุนัข กันตัวไร และเป็นยาแก้ปวดตามข้อมือ



ใบขะจาวจะมีกลิ่นฉุนและมีความร้อน สามารถนำใบขะจาวไปรองทำรังไก่ป้องกันตัวไรได้เป็นอย่างดี





เปลือกของต้นขะจาวนำไปทำเป็นยารักษาเรื้อนของสุนัข ใช้ทาตามผิวหนังกันเรื้อนก็ได้