ประเพณีพื้นบ้าน

โดย ศิริจันทร์ ใจเย็น  - 14 พ.ย. 2548


นักศึกษา          ป.โท

ประเพณีพื้นบ้าน


ขนบธรรมนียมประเพณีท้องถิ่นในลำปาง


ลำปางเป็นจังหวัดสำคัญในสมัยอาณาจักรล้านนามีขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นคล้ายกับเมืองอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ลำปาง ประชากรส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจาก ไทยยวน หรือโยนก มีวัฒนธรรมประเพณี ระบบการนับวันเดือนปี ภาษาพูด และภาษาเขียนตลอดจนค่านิยมต่าง ๆ เป็นเอกลักษณ์ของตนเองเฉพาะในจังหวัดลำปางแล้วแต่ละเดือนจะมีประเพณีต่าง ๆ ดังนี้
ประเพณีในรอบ 12 เดือน
เดือน 7 (เดือน 5 ใต้) ประมาณเดือนเมษายน ประเพณีบวชลูกแก้ว ปอยหลวง ฟ้อนผีปู่ย่า ยอคุณแม่น้ำวัง สักการะเจ้าพ่อพญาคำลือ สักการะเจ้าพ่อประตูผา สักการะเจ้าพ่อหลักเมือง ปี๋ใหม่เมือง สืบจ๊ะต๋า
เดือน 8 (เดือน 6 ใต้) ประมาณเดือนพฤษภาคม ประเพณีบวชลูกแก้ว ปอยหลวง ฟ้อนผีปู่ย่า ไหว้พระธาตุพระแก้วดอนเต้า จิบอกไฟ สักการะเจ้าพ่อทิพย์ช้าง ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า
เดือน 9 (เดือน 7 ใต้) ประมาณเดือนมิถุนายน ประเพณีปอยหลวง บวช – เป็กซ์ ฟ้อนผีปู่ย่า ฟ้อนผีอื่น ๆ เลี้ยงผี
เดือน 10 (เดือน 8 ใต้) ประมาณเดือนกรกฎาคม ประเพณีเข้าพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายเทียนเข้าพรรษา แฮกนา ตานขันข้าว
เดือน 11 (เดือน 9 ใต้) ประมาณเดือนสิงหาคม ประเพณีฟังเทศน์ฟังธรรม เอามื้อ สู่ขวัญควาย
เดือน 12 (เดือน 10 ใต้) ประมาณเดือนกันยายน ตานก๋วยสลาก ชนกว่าง
เดือนเกี๋ยง (เดือน 11 ใต้) ประมาณเดือนตุลาคม ตานก๋วยสลาก ออกพรรษา ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เปตพลี
เดือนยี่ (เดือน 12 ใต้) ประมาณเดือนพฤศจิกายน ประเพณีล่องสะเปา ตั้งธรรมหลวง ปอยหลวง(เทศน์มหาชาติ) ไหว้พระธาตุลำปางหลวง
เดือน 3 (เดือนอ้ายใต้) ประมาณเดือนธันวาคม ประเพณีเทศน์มหาชาติ สู่ขวัญข้าว เข้ากรรม(เข้ารุกขมูล)
เดือน 4 (เดือน 2 ใต้) ประมาณเดือนมกราคม ประเพณีเทศน์มหาชาติ ปอยหลวง ฟ้อนผีปู่ย่า ตานหลัวหิ้งพระเจ้า ตานข้าวจี่ข้าวหลาม สืบจ๊ะต๋าบ้าน จ๊ะต๋าเมือง
เดือน 5 (เดือน 3 ใต้) ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ประเพณีมาฆบูชา บวชลูกแก้ว ปอยหลวง ฟ้อนผีปู่ย่า ปลงศพพระ
เดือน 6 (เดือน 4 ใต้) ประมาณเดือนมีนาคม ประเพณีบวชลูกแก้ว ปอยหลวง ฟ้อนผีปู่ย่า ไห้พระธาตุดอยม่วงคำ

ประเพณีปี๋ใหม่เมืองลำปาง – ฮีตฮอยเฮา



ประเพณีปี๋ใหม่เมืองลำปางก็คือประเพณีสงกรานต์ของภาคกลาง ถือว่าเป็นศักราชใหม่แต่โบราณกาลของชาวไทย ประเพณีปี๋ใหม่เมืองลำปางมีประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติช่วงเทศกาลดังกล่าว 3 วัน เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสังขารล่อง มีเรื่องเล่าว่าพอถึงวันสังขารล่องจะมีปู่สังขาร ย่าสังขารหาบกระบุงมาเก็บเอาความไม่ดีความไม่งามตลอดถึงเสนียดจัญไรและความชั่วร้ายต่าง ๆ ไปจากชุมชน โดยที่ปู่สังขารจะมาตอนดึกหรือใกล้สว่าง ชาวบ้านจะพากันยิงปืน จุดประทัด หรือ จิสะโป๊ก ที่ชาวบ้านประดิษฐ์ขึ้นเองใช้ยิงแทนปืนขับไล่สังขาร ในตอนสายชาวบ้านต่างพากันทำความสะอาดบ้านช่องห้องหอกันเพราะถือว่าเป็นการขับเสนียอจัญไรให้ไปพร้อม ๆ กันกับปู่สังขาร ทำความสะอาดผมเผ้า ร่างกาย ผู้ชายก็มีหน้าที่ทำความสะอาดพระพุทธรูปและหิ้งพระ วันนี้ถือเป็นวันแห่งการทำความสะอาด วันที่ 14 เมษายน เป็นวันที่สองของประเพณี เป็นวันเนาว์ ชาวบ้านเรียกว่า วันเน่า มีความเชื่อว่า ถ้าใครด่าทอกันก็จะทำให้ปากเน่าปากเหม็น ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องไม่ทำผิดศีล 5 วันนี้จะมีการตระเตรียมอาหาร ขนมและเข้าของเครื่องไหว้สำหรับทำบุญในวันรุ่งขึ้น ขนมที่นิยมทำกันคือ ขนมเจ๊อก หรือขนมเทียน ขนมปาด ข้าวแคบ ข้าวควบ ข้าวแต๋น ข้าวต้ม ขนมเกลือ จะเตรียมไว้เพื่อทำบุญและยังทำไว้เพื่อเลี้ยงลูกหลานญาติพี่น้อง ในตอนเย็นจะมีการขนทรายเข้าวัดตามความเชื่อถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งที่มีอานิสงฆ์เป็นอย่างมาก เช่น จะทำให้อายุยืนยาว มีญาติพี่น้องบริวารมาก ทำให้มีปัญญากล้าแข็งละเอีดเหมือนเม็ดทราย วันที่ 15 เมษายน เป็นวันพญัน ถือเป็นวันเริ่มศักราชใหม่โดยประเพณีจะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ประมาณ 6 นาฬิกา ชาวบ้านจะเตรียมขันดอก (พานใส่ดอก) ขันข้าว คือสำรับอาหารถวายพระ เรียกว่า ตานขันข้าว เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และแก่เจ้ากรรมนายเวร คือผู้ที่มีความผูกพันและมีความอาฆาตแค้นต่อกัน เมื่อตายไปแล้วจะมาคอยรบกวน จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เพื่อขออโหสิกรรมแก่กัน มีการตานตุงหรือธง โดยเชื่อว่า คนที่ตกนรกจะเกาะหางตุงหรือธงขึ้นไปให้พ้นทุกข์ได้และการตานไม้ก้ำศรีเพื่อนำไปก้ำต้นโพธิ์เป็นการค้ำจุนชีวิตของตนให้ยืนยาวและช่วยค้ำจุนบวรพระพุทธศาสนา จากนั้นมีการแสดงพระธรรมเทศนา การสรงน้ำพระพุทธรูปต่าง ๆ และประเพณีการรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ บิดามารดา ญาติพี่น้องผู้อาวุโส ครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ โดยการนำดอกไม้ธูปเทียน พร้อมน้ำขมิ้นส้มป่อยไปประเคนแก่ผู้เฒ่า ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะรับไว้และให้พรแก่ลูกหลาน

ประเพณีการสืบจ้ะต๋า (สืบชะตา)





การต่ออายุเป็นพิธีกรรมที่กระทำตามความเชื่อว่าถ้าทำแล้วอาการป่วย หรือเคราะห์ร้ายจะบรรเทาลง และจะมีสุขภาพดีขึ้น มีความสุข ความเจริญยิ่งขึ้น การสืบจ้ะต๋าคล้ายกับการสะเดาะเคราะห์ แต่การสืบจ้ะต๋า มีขั้นตอนและวิธีการยากกว่า มีวัสดุอุปกรณ์มากกว่า เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้เข้าทำพิธี ผู้ที่จะสืบจ้ะต๋าจะเป็นคนเจ็บหรือไม่ก็ได้ แต่นิยมทำกันปีละครั้งเพื่อให้อยู่อย่างมีความสุข การสืบจ้ะต๋าแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การสืบจ้ะต๋าหลวง เป็น การสืบจ้ะต๋าของกลุ่มคน อาจจะเป็นในครอบครัว หรือในหมู่คณะ โดยให้ทุกคนในครอบครัว หรือตัวแทนหมู่คณะไปนั่งรวมกันภายในบริเวณขาตั้งสามเหลี่ยมที่จัดไว้ การสืบจ้ะต๋าหน้อย จัดให้ผู้ สืบจ้ะต๋าคนเดียว ช่วงเวลาการสืบจ้ะต๋า มักจะทำในวันสำคัญของบุคคล เช่น วันคล้ายวันเกิด วันขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น หรือไม่จะทำเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีเคราะห์ร้าย การสืบจ้ะต๋าจึงไม่มีช่วงเวลาที่พร้อมกับเทศกาลหรือฤดูกาลใด ๆ จะทำพิธีได้ตลอด แต่มักทำกันในตอนเช้าถึงเที่ยงเท่านั้น ผู้ที่จะสืบจ้ะต๋าจะเป็นผู้กำหนดวันประกอบพิธี เมื่อถึงวันประกอบพิธีจะนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป พิธีกรรมมักจะทำในห้องโถงโล่ง ถ้าทำกับกลุ่มคนจำนวนมาก จะใช้สถานที่กว้างขึ้น เช่น ในวิหารวัด หรือสร้างปะรำพิธีขึ้นเป็นพิเศษ ส่วนประกอบสำคัญมีซุ้มที่ทำจากไม้ยาวสามท่อนผูกปลายบนรวมกันเป็นรูปกระโจม บนท่อนไม้มีกล้วย อ้อย มะพร้าวผูกติดไว้ บนยอดกระโจมมีดอกไม้ธูปเทียนและอื่น ๆ ตามตำราของผู้ประกอบพิธีหรือพ่อหนาน เป็นผู้ดำเนินขั้นตอนด้วยการว่าคาถาหลายบทตามตำราของท่าน พอสวดเสร็จพิธี พระภิกษุก็จะพรมน้ำพุทธมนต์ พ่อหนานผู้อาราธนาศีลจะเป็นผู้เก็บขาตั้งสามเหลี่ยมและเคื่องต่าง ๆ ที่ทำพิธีไปไว้ในวัดที่มีต้นโพธิ์หรือต้นไม้ใหญ่ ๆ การได้ทำพิธีกรรมตามความเชื่อทำให้ผู้เข้าพิธีมีความรู้สึกดีขึ้น มีกำลังใจ และความเชื่อมั่นว่าตนจะสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้ต่อไป จะช่วยทำให้ดวงชะตาดีขึ้น จะค้าขายหรือทำงานอะไร ก็จะประสบผลสำเร็จและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

ประเพณีรดน้ำดำหัว





ถือปฏิบัติกันในวันพญาวันอันเป็นวันที่พิเศษกว่าวันอื่น ๆ หรือวันเถลิงศก ตรงกับวันที่ 15 เมษายนของทุกปี ในวันพญาวันนี้ ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะตื่นนอนกันแต่เช้าแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ให้สุดสวย จัดสำรับกับข้าว อาหารคาว อาหารหวาน ขนม ข้าวต้มไปถวายพระที่วัดเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเผื่อแผ่ให้แก่บรรพบุรุษ สรรพสัตว์ เจ้ากรรมนายเวร เทพบุตร เทพยดา แม่ธรณี เจ้าที่ เพื่อความสบายใจและนำไปคารวะครูบาอาจารย์ บิดามารดาผู้ที่ตนเคารพนับถือ พิธีกรรมทางศาสนาที่วัด จะมีการทำบุญตัดบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ถวายกองพระเจดีย์ทราย ปักธงช่อ ธงไชย สรงน้ำพระพุทธรูป พระธาตุเจดีย์ ภาคบ่ายจะมีการไปรดน้ำดำหัวพระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ ที่มีความคุ้นเคย เคารพนับถือกัน
ประเพณีรดน้ำดำหัวหนุ่ม ๆ สาว ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่จะแต่งกายตามชุดพื้นเมือง ผ้าหม้อฮ้อม หรือชุดล้านนามีดอกมะลิ ดอกจุ๋มป๋าลาว(ลีลาวดี)ร้อยเป็นพวงคล้องคอ ปะแป้งแต่งหน้า ล่ำสุราตามประสาชาวบ้านพอให้หน้าตึง กล้าแสดงออกร้องรำทำเพลงสาดน้ำ สาว ๆ จะแต่งกายสุดสวยงามด้วยเสื้อแขนยาว นุ่งผ้าซิ่นแบบชาวเหนือ ทัดดอกเอื้องผึ้งเหลืองอร่ามที่มวยผม ถือสลุงใส่น้ำขมิ้นส้มป่อย น้ำอบน้ำหอมสรวลเสเฮฮากันอย่างครึกครื้นเมื่อรดน้ำดำหัวพระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ เสร็จ ก็พากันไปรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ ครูบาอาจารย์ บิดามารดา ก็มีกล้วย อ้อย ขนม ข้าวต้ม มะม่วง มะปราง แตงกวา หมากพลู เมี่ยงบุหรี่ ข้าวตอกดอกไม้สิ่งของเครื่องใช้มีผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า กางเกง สะโหร่ง ผ้าขาวม้า และมีซองเงินใส่ไปด้วย เพื่อสูมา คารวะ รดน้ำดำหัว อำนวยอวยพรให้ผู้คารวะและผู้มาคารวะมีความสุขตลอดไปจนชั่วกัลปาวสานต์ พร้อมกับอโหสิกรรมในสิ่งต่าง ๆ ที่ลูก ๆ หลาน ๆ ญาติมิตรได้กระทำมาในอดีต ปัจจุบันไม่ถือสาลงลดปลดโทษให้แก่กันและกันในวันนี้

ประเพณีการฟ้อนผีมด ผีเม็ง




การฟ้อนผีมด - ผีเม็งเป็นประเพณีเดียวกันกับการลงผีหรือลงเจ้าในท้องถิ่นอื่น ๆ จากการสอบถามกับพ่ออุ้ย แม่อุ้ย ได้ความว่า จุดมุ่งหมายของประเพณีการฟ้อนผีมดผีเม็งนี้คือการแสดงความกตัญญูและความเคารพรักที่มีต่อบรรพบุรุษ โดยผู้ที่อยู่ในเชื้อสายเดียวกันจะไปร่วมชุมนุมที่บ้านของผู้รับหน้าที่บูชาผีบรรพบุรุษ
การฟ้อนผีมด - ผีเม็งมักจะทำกันในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน โดยจะฟ้อนในโรงพิธี ซึ่งสร้างเป็นปะรำหรือผามไว้ที่ลานบ้าน บางทีก็กางเต็นท์แทนปะรำ จากนั้นก็จัดเครื่องเซ่นต่าง ๆ ประกอบด้วย หัวหมู ไก่ต้มทั้งตัว เหล้า ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ขนม กล้วย อ้อย มะพร้าว ของเหล่านี้จะนำมาวางไว้บนร้าน ถัดไปจะมีผ้าโสร่งและเครื่องแต่งตัวสำหรับให้ผู้ที่จะมาฟ้อนสวมใส่นุ่งทับลงไป กลางปะรำจะมีผ้าขาวห้อยไว้ยาวจนลากพื้นสำหรับให้ผู้ที่จะมาฟ้อนได้ห้อยโหนเหตุที่ต้องโหนผ้าเพราะคนทรงคงเกิดอาการเวียนศีรษะมึนงงเพื่อช่วยพยุงตัวเมื่อผีเข้าแล้ว ในวันนี้จะทำพิธีสักการะบูชาผีบรรพบุรุษซึ่งอยู่บนแท่นบูชา ผู้ที่ฟ้อนจะอธิษฐานขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองให้อยู่สุขสบายประกอบอาชีพเจริญก้าวหน้าและจะกล่าวเชิญผีไปยังปะรำพิธี แล้วไปเข้าคนทรง ผีบรรพบุรุษแต่ละตระกูลก็จะเข้าทรงคนทรงที่เป็นลูกหลานในตระกูลของตน

ประเพณีตานก๋วยสลาก






งานตานก๋วยสลาก หรือกิ๋นก๋วยสลาก หรือกิ๋นข้าวสลาก เป็นประเพณีคล้ายกับสลากภัตรของชาวไทยภาคกลาง ต่างกันในด้านการปฏิบัติและพิธีกรรมเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่แล้วคือการให้ทาน ถวายข้าวของให้แก่ ภิกษุสามเณร เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปสู่ปรโลก รวมไปถึงเจ้ากรรมนายเวร และสามารถจะอุทิศผลานิสงฆ์นี้ไปเป็นเนื้อนาบุญให้กับตัวเองในภายภาคหน้า ซึ่งเป็นความเชื่อมาแต่บรรพบุรุษ เพื่อว่าชาติหน้าจะได้มีกินมีใช้ มั่งมีศรีสุข การตานก๋วยสลากเพื่ออุทิศให้ผู้ล่วงลับนี้ถือเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานที่มีต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษให้ท่านได้รับผลานิสงฆ์เพื่อไปสู่ปรโลกภพหน้าที่ดีต่อไป นอกจากนี้การตานก๋วยสลากยังแสดงถึงพลังความสามัคคีของชาวบ้านที่มาร่วมมือร่วมใจกันทำงานบุญงานกุศลโดยพร้อมหน้ากัน สามารถจะนำเงินและปัจจัยต่าง ๆ ไปบำรุงพระสงฆ์และปฏิสังขรณ์วัดได้มากเพียงพอที่เดียว งานตานก๋วยสลากจะกำหนดในช่วงวันเพ็ญเดือน 12 หรือเดือน 10 ใต้ และสิ้นสุดในวันแรม 15 ค่ำ เดือนเกี๋ยง หรือเดือน 11 ของภาคกลาง ก่อนออกพรรษา งานตานก๋วยสลากจะจัดเป็นสองวัน คือ วันดาสลากและวันตานก๋วยสลาก วันดาสลากเพื่อนฝูงญาติพี่น้องที่อยู่ต่างหมู่บ้านจะมาเยี่ยมเยือนเพื่อช่วยเหลือจัดเตรียมสิ่งของพร้อมกับนำข้าวของปัจจัยมาร่วมทำบุญ เรียกว่า มาฮอมสลาก เครื่องไทยทานจะเป็นก๋วยสลากหรือตะกร้าบรรจุเครื่องไทยทานแล้ว ยังอาจจะมีสลากที่จัดทำขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เช่น ก๋วยโชค หรือสลากย้อม เป็นต้น


ประเพณีเทศน์มหาชาติ




การฟังเทศน์มหาชาติหรือเทศน์มหาเวสสันดรชาดก ถือว่าเป็นการฟังเทศน์ครั้งยิ่งใหญ่ โดยมากจะจัดขึ้นในวันเดือนยี่เป็ง หรือวันเพ็ญเดือนสิบสอง ตรงกับเดือนพฤศจิกายนของทุกปี แต่การจัดอาจอยู่ในช่วงเดือนสิบสองนี้ และไม่ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองเสมอไป เรียกว่าจัดในฤดูกาลปลายฝนต้นหนาว หลังจากศรัทธาประชาชนชาวพุทธว่างเว้นจากการทำไร่ทำนาแล้ว การเทศน์มหาชาติหรือการตานธรรมหลวง หรือตั้งธรรมหลวง มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ชาวบ้านได้มีโอกาสฟังเทศน์มหาชาติ ฟังแล้วเกิดความรู้เรื่องจารีตประเพณี เพิ่มปสาทะศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น ทำให้เกิดความรักสามัคคีในหมู่คณะมากขึ้น ทำให้ได้ข้อความคิดจากข้อธรรม และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ การเทศน์ธรรมมหาเวสสันดรชาดกจะเริ่มกัณฑ์ทศพร ประมาณตี 5 เจ้าของกัณฑ์ต้องไปแต่เช้าตรู่จากนั้นก็จะเทศน์เรื่อยไปรวม 13 กัณฑ์ จะสิ้นสุดการเทศน์ประมาณ 5 ทุ่ม หรือมากกว่านั้น นักเทศน์ที่มีชื่อเสียงแต่ละกัณฑ์ที่ได้รับนิมนต์มาก็จะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม พระรูปใดที่มีลูกคอดี ลูกเล่นดี เสียงดี เป็นธรรมดาต้องมีศรัทธา ติดต๋ามหลามตวย มากมายจะเรียกว่าเป็นพระดาราก็เห็นจะได้ ย่อมมีรางวัลติดกัณฑ์เทศน์เป็นกรณีพิเศษแล้วแต่ความนิยม ฉะนั้น การเทศน์มหาชาติจึงดูคึกคักเป็นพิเศษ เพราะจะได้ฟังนักเทศน์จากหลายสำนัก ต่างจังหวัดก็มี และได้ฟังระบำทำนองแตกต่างกันไปสร้างความสนุกสนานมีชีวิตชีวายิ่งนัก ระบำทำนองการเทศน์ของจังหวัดลำปาง จะเป็นระบำแมลงภู่ชมดวงดอกไม้คือมีลักษณะเหมือนแมลงภู่บินไปชมดวงดอกไม้และก็ดูดดื่มกินน้ำหวาน นิ่ง และนิ่งอยู่นาน ๆ จากนั้นก็โผผินบินไปยังดอกอื่น จากดอกนี้ไปดอกโน้น แล้วก็ดูดดื่มกิน ทำนองลำปางนี้เป็นระบำทำนองที่ไพเราะเพราะพริ้งไม่เหมือนใคร จากการวิเคราะห์เนื้อหาสาระในธรรมมหาเวสสันดรชาดกต้งแต้ต้นจนจบ เป็นเนื้อหาสาระที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยในสังคมนั้น ๆ เป็นต้นว่า เรื่องจริยะธรรม คารวะธรรม สามัคคีธรรม คุณธรรม จนถึงวัฒนธรรม นับได้ว่าเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมไทย สังคมไทยเมื่อได้รับอิทธิพลความคิดทางศาสนาจึงเป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกันเป็นอย่างยิ่ง มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไดหล่อหลอมให้คนไทยมีอุปนิสัยรักสงบ เยือกเย็น