สังคมแห่งการเรียนรู้สู่การปฏิรูป2

โดย นางแสงหล้า เรืองพยัคฆ์  - 03 ก.พ. 2550


สังคมแห่งการเรียนรู้สู่การปฏิรูป
      ยุคปัจจุบันเป็นยุคสังคมแห่งการเรียนรู้และยุคแห่งการปฏิรูป ลองมาฟังนานาทัศนะที่ผู้เขียนได้นำมาเล่าสู่ให้ท่านฟัง ในประเด็นสังคมแห่งการเรียนรู้ก่อน
สังคมแห่งการเรียนรู้ หมายถึง สังคมที่มีระบบจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลิตแหล่งเรียนรู้อันได้แก่หนังสือ สื่อเทคโนโลยีต่างๆ กระจายแหล่งเรียนรู้สู่สังคม โดยระบบธุรกิจการค้า และโดยบริการห้องสมุดและที่อ่านหนังสือซึ่งเป็นบริการทางวิชาการของรัฐให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิ์และหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการได้รับความรู้ ข้อมูล ข่าวสารโดยวิธีการต่างๆทั้งนี้รวมความพยายามของรัฐในการสร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน เพื่อแสวงหาความรู้ และนำความรู้ไปทำประโยชน์แก่ตนเองและสังคม
ลักษณะของชุมชนที่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เน้นการจัดการเรียนรู้ที่เป็นปัจจัยหลัก ที่ช่วยให้ประชาชนได้รับการพัฒนา ด้วยการเรียนรู้จนสามารถปรับตัว หาแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าปัญหาหรือสถานการณ์นั้นจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีความพยายามที่จะวิเคราะห์สภาพของหน่วยงาน หรือชุมชนของตนเองเพื่อเทียบกับสถานการณ์ ปัจจุบันว่าต้องพัฒนาความรู้ และทักษะอะไร ด้านใด ให้กับประชาชน ส่งเสริมใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอันมีค่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ชุมชนพัฒนาตนเอง ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ใช้ประโยชน์ของการเรียนรู้จาก การพัฒนาแบบต่อยอด และ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามร่วมกันอย่างแข็งแกร่ง ส่งเสริมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในภาพรวม


การสร้างชุมชนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้สามารถทำได้โดย หน่วยงานหรือ ชุมชนจะต้องมีการผสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับความร่วมมือแบบหุ้นส่วน การมีส่วนร่วม ความสามารถในการดำเนินงาน และการติดตามผลการดำเนินงาน โดยการสร้างโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ การส่งเสริมและการสร้างกลไกเพื่อการเรียนรู้ และการสร้างและพัฒนาเครือข่าย ส่งเสริมและสร้างกลไกเพื่อการเรียนรู้ โดยพิจารณาจาก การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาสื่อ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีทางการศึกษาอย่างเพียงพอ และหลากหลาย สามารถตอบสนองการเรียนรู้ของแต่ละวัยต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง การพัฒนาระบบการบริการความรู้ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ ของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย แสวงหาภาคีเครือข่าย การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้วยการสำรวจ วิเคราะห์ และจำแนกประเภทเครือข่ายเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการประสานความร่วมมือ และการสนับสนุนการดำเนินงาน การประสานความร่วมมือและการสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย เพื่อให้สามารถทำกรอบและแผนงาน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแรงจูงใจด้วยการยกย่องและให้รางวัลภาคีเครือข่าย ที่ดำเนินกิจกรรมได้ผลสำเร็จ


      เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับสังคมแห่งการเรียนรู้ไปแล้วทีนี้ลองมาฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับการปฏิรูปดูบ้าง การปฏิรูป คือการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการศึกษา ตั้งแต่นโยบาย ปัจจัย ขั้นตอน และผลลัพธ์
      มีหลายท่านคงสงสัยว่าทำไมจึงต้องมีการปฏิรูปการศึกษา ( ไม่ใช่ปฏิรูปการเมืองนะคะ ) มูลเหตุของการปฏิรูปคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ระบุให้รัฐต้องจัดการศึกษา อบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้ปลูกจิตสำนึกที่ถูกต้อง มูลเหตุที่สอง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาของชาติอย่างมากทั้งด้านการบริหารการจัดการ ครูและบุคลากร การจัดการเรียนการสอน และอื่นๆ มูลเหตุที่สาม มาจากกระแสโลกาภิวัตน์ มูลเหตุที่สี่ มาจากสภาพปัญหาการจัดการศึกษาในปัจจุบัน มูลเหตุที่ห้ามาจาก ด้านระบบบริหารและการจัดการ (รวมศูนย์อำนาจไว้ในส่วนกลาง ขาดเอกภาพ ขาดความต่อเนื่องในนโยบาย) มูลเหตุที่หก มาจาก ด้านคุณภาพของการจัดการศึกษา (ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่อนข้างต่ำ……) มูลเหตุที่เจ็ด ด้านหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผล (หลักสูตรยังไม่สามารถสนองความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลาย การเรียนการสอนเน้นครูเป็นศูนย์กลาง) มูลเหตุที่แปด ด้านครูและบุคลากร (บางส่วนยังขาดความรู้ความสามารถ ทักษะในการจัดการเรียน การสอนขาดจิตสำนึกและจิตวิญญาณของความเป็นครู) และยังมีสาเหตุมาจากสิ่งอื่นๆอีกมากมาย สำหรับการปฏิรูป


สำหรับวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปมีดังนี้ ประการแรก เพื่อให้การศึกษาเป็นการศึกษาสำหรับคนทั้งมวล อย่างทั่วถึง ยืดหยุ่น หลากหลาย เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม ประการที่สอง เพื่อให้ทุกส่วนในสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ประการที่สาม เพื่อปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ให้มีกระบวน การเรียนที่ง่าย สนุก และพัฒนาคนได้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์ สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมืองและสุขภาพไปพร้อมกัน ประการที่สี่ เพื่อสร้างระบบส่งเสริมวิชาชีพครู ประการที่ห้า เพื่อ ปฏิรูประบบบริหารจัดการการศึกษา ให้มีความสมบูรณ์และประสิทธิภาพในการจัดการและตรวจสอบให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษา ในการปฏิรูปเป็นบทบาทหน้าที่ของทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ต้องร่วมคิด ร่วมทำ เพราะเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทั้งในเรื่องความคิด ความเชื่อและการปฏิบัติ จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ความร่วมมือ และภาวะการเป็นผู้นำในการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง


และการปฏิรูปจะสำเร็จได้ต้องอาศัย การมีส่วนร่วม (Participation) ความร่วมมือ (Collaboration) ภาวะผู้นำ (Leadership) โดยโรงเรียนจะเตรียมการปฏิรูปการศึกษา โดยเริ่มกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดตั้งคณะกรรมการบริหารถานศึกษา ตามองค์ประกอบที่กำหนดใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ บริหารและจัดการแบบ School Base Management จัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษา ปรับปรุงบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมและองค์ประกอบของโรงเรียน จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ จัดทำระบบการตรวจสอบและประเมินตนเอง สำรวจความต้องการในการพัฒนา โดยเน้นให้ครูและบุคลากรพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ จัดกระบวนการเรียนการสอน โดยเน้นให้ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด นำภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วม จัดการเรียนการสอน จัดทำและพัฒนาหลักสูตร และแผนการเรียนการสอนที่หลากหลาย และประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงงานปฏิรูป ด้านอื่นๆ ที่โรงเรียนจะดำเนินการ คือ ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนตาม หมวด 4 แนวทางการจัดการศึกษาของ พ.ร.บ. การศึกษาที่มีเจตนารมณ์ให้ทุกคนเป็นผู้เรียนหมด ดังนั้นโครงการจึงเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เป็นนักเรียน ผู้เรียนที่เป็นครู และเป็นผู้บริหาร รวมทั้งที่เป็นกรรมการสถานศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนด้วย ปฏิรูปการสอนเพื่อการประกันคุณภาพการสอนของครู เมื่อครูเรียนรู้แล้วจะเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีสอน โดยเรียนรู้เอง เปลี่ยนเอง ประเมินผลตนเอง แล้วนำไปแก้ไขปรับปรุงหรือขยายผลต่อเมื่อประสบความสำเร็จ ปฏิรูปการบริหาร เพื่อการประกันคุณภาพการบริหารของผู้บริหาร เมื่อผู้บริหารเรียนรู้แล้วก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และวิธีการบริหารจัดการโรงเรียนให้เป็นไปตามแนวทาง และเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การศึกษา ปฏิรูประบบตรวจสอบและควบคุมคุณภาพภายใน โดยการประเมินตนเองเพื่อประกันคุณภาพทั้งโรงเรียน มีการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของโรงเรียนอย่างครบถ้วนเป็นระบบ สามารถแสดงจุดแข็งจุดอ่อนที่โรงเรียนจะนำไปใช้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างหลักประกันให้ผลงานของโรงเรียนเป็นที่พึงพอใจของนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ หากโรงเรียนในโครงการได้ ดำเนินงานตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างเต็มที่แล้วผลสำเร็จจะอยู่ที่คุณภาพของนักเรียนในโรงเรียน นักเรียนจะเป็นคนดี มีความสามารถและมีความสุขในการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ โรงเรียนก็จะพร้อมรับการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ หรือการประกันคุณภาพจากภายนอก


      จากความคิดเห็นทั้งหมดที่มีต่อสังคมการเรียนรู้และการปฏิรูปการที่เน้นด้านการศึกษาเป็นหัวใจหลักก่อนจากกันก็ขอฝากข้อคิดสำหรับทุกท่านไว้คือ การปฏิรูปการศึกษา คือการปฏิรูปที่คุณภาพไม่ใช่การปฏิรูปที่ปริมาณ ผู้บริหารควรยึดหลักธรรมสัปปุริสธรรม 7 เป็นธรรมที่ใช้ทั้งในการครองตน ครองคนและครองงาน และสุดท้ายขอฝากบทปิดท้ายไว้เตือนใจทุกท่านก่อนจากเกี่ยวกับการปฏิรูปไว้ดังนี้ “ครู…เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ความเป็นเมล็ดพันธุ์คือสามารถงอกได้ แต่ที่งอกไม่ได้เพราะมีหินทับอยู่ การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ คือการเอาหินออกแค่นั้น เมล็ดจะงอกกันใหญ่…”