ถิ่นกำเนิดของลำไย

โดย นงลักษณ์ ตรีโรจนานนท์  - 26 ส.ค. 2542


            
ถิ่นกำเนิดของลำไย

เนื้อเรื่องย่อ            

ลำไยเป็นไม้ยืนต้น เปลือกขรุขระ สีน้ำตาลหรือสีเทา ซึ่งเป็นไม้ผลที่สำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ปลูกกันมากทางภาคเหนือของประเทศไทย เป็นไม้ผลส่งออกทั้งในรูปผลและตากแห้ง ชาวจีนนิยมใช้ลำไยตากแห้งมาต้มกับน้ำรับประทาน เป็นยาบำรุงกำลังและแก้โรคลำไส้


ประวัติและถิ่นกำเนิด


                  
สันนิษฐานว่าอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ เนื่องจากมีการปลูกมานานกว่าพันปี ปลูกมากในมณฑลฟูเกียน กวางตุ้ง ใต้หวัน และเสฉวน

แพร่เข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างไร

      ตามสันนิษฐานว่า ลำไยมาจากประเทศจีนตอนใต้ เพราะตามป่าของประเทศไทยในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย มีลำไยพื้นเมืองซึ่งมีผลเล็กขึ้นอยู่ดกดื่น และเรียกลำไยนั้นว่า ลำไยธรรมดา
ต่อมาปี พ.ศ. 2439 มีชาวจีนผู้หนึ่งนำลำไยกิ่งตอน จำนวน 5 กิ่ง จากประเทศจีนมาถวายให้เจ้าดารารัศมี เจ้าดารารัศมี ได้แบ่งลำไยไปยังสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
1. นำไปปลูกที่กรุงเทพฯ      จำนวน 2 กิ่ง
2. อีกจำนวน 3 กิ่ง ได้มอบให้เจ้าน้อยตั๋น ณ เชียงใหม่ ผู้ซึ่งเป็นน้องชาย นำไปปลูกที่เชียงใหม่ ณ บ้านท่าขี้เหล็ก ตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้ขยายพันธุ์แพร่ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะจังหวัดลำพูน หลังจากนั้นทำให้มีพันธุ์ลำไยเกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย



จากเอกสารกรมวิชาการเกษตร