คนพากษ์ช้าง

โดย กำจร หัดไทย  - 27 ส.ค. 2542


เมื่อพูดถึงอาชีพหลายคนคิดอยากทำ
อาชีพตามที่ตนใฝ่ฝันซึ่งความคิด
ของแต่ละคนย่อมอยู่ในพื้นฐานที่ต่างกัน
หลายคนพึงพอใจในอาชีพที่ตนทำอยู่ แต่หลายคนยังแสวงหา สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้
อาจจะเป็นแนวทางเป็นสาระเป็นข้อคิดอีกแง่มุมหนึ่งของอาชีพ
หลายคนคิดไม่ถึงหลายคนมองข้ามแต่ถ้ามองให้ดีๆ
ถือว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งซึ่งให้ความรู้สร้างชื่อเสียงให้ในระดับประเทศ
เลยก็ว่าได้ ผู้หญิงวัยเพียง 23 ปี เลือกที่จะประกอบอาชีพ
"ผู้บรรยายการแสดงช้าง"



คุณวัญทิยา เทพคำปลิว หรือ แก้มแหม่ม
ที่เพื่อนเรียกขานเป็นชาวลำปางโดยกำเนิด
มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน เธอเป็นลูกสาวคนโตและมีน้องสาวและน้องชายอีก 3 คน
จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญาตรี คณะศิลปศาสตร์ วิชาเอกภาษาอังกฤษ จากวิทยาลัยโยนก เมื่อเรียนจบมีโอกาสได้ไปทำงานที่กรุงเทพกับเพื่อนๆ
ทำอยู่ได้ 3 เดือนเศษ ก็มีโอกาสสอบบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่ง ประชาสัมพันธ์
ผู้บรรยายการแสดงช้าง ของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
ตั้งแต่ปี2541 เป็นต้นมา



ถามว่าเมื่อรู้ว่าต้องเป็นผู้บรรยายการแสดงต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
เธอเล่าให้ฟังว่า
" ตอนเข้ามาทำงานใหม่ ๆ ต้องศึกษางานหลายรูปแบบ เช่น มานั่งดูการบรรยายหลาย ๆครั้ง ต้องศึกษาข้อมูลของช้างให้มากที่สุด จากหนังสือ
ตำหรับตำรา และผู้รู้และจากควาญช้าง นอกจากนั้นยังต้องมีหน้าที่ถ่ายรูปช้าง
หรือบางครั้งต้องเป็นลูกมือในการรักษาช้างที่เจ็บป่วยที่โรงพยาบาลช้างอีกด้วย
หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสบรรยายบ้างแต่ต้องเตรียมในเรื่องของการฝึกด้านภาษา
และลีลาการพูด ศึกษาสคริปทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
แต่โชคดีที่จบมาทางภาษาอยู่แล้ว จึงเรียนรู้ได้เร็ว"

ถามต่อไปว่าเหนื่อยไหมกับการทำงานแบบนี้คุ้มกับค่าตอบแทนไหม
เธอเล่าให้ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า
" ไม่เคยเหนื่อยกับงาน แม้นต้องเริ่มงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็นของแต่ละวัน และเดือนหนึ่งจะมีวันหยุดให้ 4 วัน แต่ต้องไม่เป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันสำคัญต่าง ๆ สำหรับเงินเดือนที่ได้รับ
ตอนนี้ 6,890 บาท ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว เคยเห็นเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนงาน ควาญช้างทำงานหนักกว่าเราหลายเท่า เขายังทำกันได้ นึกถึงตรงนี้แล้วทำให้มีกำลังใจและหายเหนื่อยได้เหมือนกัน"

เคยมีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานบ้างไหม
" ก็มีปัญหาบ้าง เช่นการสื่อสารในภาษาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ อาทิภาษาเยอรมัน
แต่ก็มีไม่มากนัก และทุกครั้งที่เสร็จจากการบรรยายมักจะมาสนทนากับผู้ชมเสมอ ว่าเข้าใจการบรรยายมากน้อยขนาดไหน และที่สำคัญต้องสังเกตผู้ชมด้วย บางครั้ง
ช้างก็เกเรซึ่งก็สร้างปัญหาได้เหมือนกัน "

มีเทคนิคในการบรรยายให้สอดคล้องกับการแสดงของช้าง เพราะดูแล้วคล้ายกับสามารถสื่อสารกับช้างได้
พูดอะไรช้างก็รู้เรื่องและทำตาม

" เรื่องนี้ต้องอาศัยสคริป จำจังหวะการแสดง และสังเกตควาญช้างที่จะสั่งช้าง
ก็เป็นเรื่องไม่ยากนัก เพราะการแสดงจะเหมือนกันแทบทุกวัน "

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมามีผลงานดีเด่นและภาคภูมิใจมากที่สุด
"มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ได้ร่วมบรรยายการแสดงคราวสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงช้าง ซึ่งสร้างความปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่ง"

เหลือบมองเวลาเห็นว่าล่วงเลยมามากแล้วจึงยิงคำถามสุดท้ายถึงคติข้อคิด ประจำใจ ที่อยากจะบอกฝากให้กับผู้ที่คิดหรือสนใจในอาชีพนี้
" การทำงานอะไรก็ตาม ต้องทำใจให้รักกับงานนั้น ๆ ต้องเข้าใจในงาน
รักหน่วยงาน แม้นว่างานอาจจะไม่ใช่ตามที่เราใฝ่ฝัน
แต่ในเมื่อเรามีโอกาสได้ทำงาน ก็ขอให้รักในงานที่ทำ และทำให้ดีที่สุด "

หากท่านสนใจในเรื่องราวของช้าง อยากศึกษา หรือแม้นเพียงเพื่อความบันเทิง
หรืออยากมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ช้างอยากชมการแสดงที่น่าดู
และฟังน้ำเสียงการบรรยายที่ไพเราะ มีลีลาชวนฟัง และสามารถสะกดคนดูได้ คงต้องหาโอกาส หรือแวะเวียนไปที่
ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ถนนลำปาง - เชียงใหม่ หลักกิโลเมตรที่ 28-29 ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง (52190) หรือโทร.054 - 229042 , 228108 รับรองจะไม่ผิดหวัง