สมุนไพรรักษาโรคได้จริงหรือ

โดย สดศรี ขัตติยวงศ์  - 11 พ.ค. 2544



สมุนไพรเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีประวัติควบคู่กันมากับชีวิต
ของมนุษย์มาช้านาน ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์รู้ถึงคุณค่า และ ใช้ประโยชน์ของสมุนไพรในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ซึ่งความรู้และประสบการณ์ในการรักษาโรคนี้ได้รับการบอกเล่าสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดเป็นยาสมุนไพรใช้รักษาโรคต่าง ๆ การนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรคจึงจัดได้ว่าเป็นการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในยุคปัจจุบันได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับยุคเศรษฐกิจพอเพียง

ยาสมุนไพร หมายถึง ยาที่ได้จากพืช สัตว์ และ แร่ ซึ่งยังมิได้ผสมปรุง หรือแปรสภาพ

สมุนไพรโดยทั่วไปมีทั้งการใช้สดและการใช้แห้ง การใช้สดนั้นมีข้อดีตรงสะดวก ใช้ง่ายแต่ว่าฤทธิ์การรักษาของยาไม่คงที่ ดังนั้นส่วนมากนิยมใช้แห้ง โดยเลือกเก็บยาสมุนไพรตามฤดูกาลเก็บของพืชแล้วนำมาแปรสภาพโดยผ่านขบวนการที่เหมาะสมเพื่อเก็บยาไว้ใช้ได้นาน

พืชที่ใช้เป็นยาสมุนไพรนั้น การแปรสภาพในชั้นต้น โดยมากใช้วิธีทำให้แห้ง วิธีทำให้แห้งมีวิธีตากแดดให้แห้ง วิธีอบให้แห้ง วิธีผึ่งให้แห้ง วิธีผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เป็นต้น แต่จะต้องสนใจอุณหภูมิที่ทำให้แห้งโดยทั่วไป อุณหภูมิ 50 องศา ถึง 60 องศา

ส่วนต่าง ๆ ของสมุนไพรมีวิธีการแปรสภาพดังนี้

1. รากและส่วนที่อยู่ใต้ดิน ล้างดินและสิ่งสกปรกออกให้สะอาด เอารากฝอยออกให้หมด ถ้าเป็นพืชที่มีเนื้อแข็งหั่นเป็นชิ้นที่เหมาะสม ถ้าผ่านการให้ความร้อนแบบต้มนึ่ง แล้วจะทำให้สะดวกในตอนทำให้แห้ง นำมาตัดเป็นชิ้น ๆ อบให้แห้งด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม
2. เปลือก หั่นเป็นชิ้นขนาดพอดี ตากให้แห้ง
3. ใบและทั้งต้น ใบพืชบางอย่างที่มีน้ำหอมระเหย ควรผึ่งอบไว้ในที่ร่ม ไม่ควรตากแดด และก่อนที่ยาจะแห้งสนิท ควรมัดเป็นกำป้องกันการหลุดร่วงง่าย โดยทั่วไปเก็บใบหรือลำต้นมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาตากแดดให้แห้งสนิท จากนั้นจึงเก็บให้มิดชิด ระวังอย่าให้ขึ้นรา
4. ดอก หลังจากเก็บมาแล้ว ตากแห้งหรืออบให้แห้ง แต่ควรรักษารูปดอกไว้ให้สมบูรณ์ไม่ทำลายสูญเสียไป เช่น ดอกกานพลู
5. ผล โดยทั่วไปเก็บแล้ว ก็ตากแดดให้แห้งได้เลย มีเพียงบางอย่างเท่านั้นที่ต้องหั่นเป็นชิ้นก่อนตาก หรืออบด้วยความร้อนก่อน
6. เมล็ด เก็บผลมาตากให้แห้ง แล้วจึงเอาเปลือกออก เอกเมล็ดออก เช่น ชุมเห็ดไทย บางอย่างเก็บแบบผลแห้งเลยก็มี

ข้อเสนอแนะในการใช้สมุนไพร

  • ศึกษาหาข้อมูลของสมุนไพรนั้นๆ ก่อนนำมาใช้

  • ต้องใช้สมุนไพรให้ตรงกับโรคที่วินิจฉัยอย่างถูกต้อง

  • ต้องใช้สมุนไพรให้ถูกต้อง

  • ต้องใช้ให้ถูกส่วนของสมุนไพร

  • ต้องใช้สมุนไพรตามอายุของสมุนไพร

  • ต้องเตรียมให้ถูกวิธี

  • ความสะอาดทุกขั้นตอน

  • การรับประทานยาเมื่อใช้ยาไป 1-2 วัน
  • อาการไม่ดีขึ้นควรต้องไปปรึกษาแพทย์ ที่สถานีอนามัย
    อาการโรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพร
  • โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สุนัขบ้ากัด วูพิษกัด กระดูกหัก ฯลฯ

  • ถ้าอาการป่วยมีอาการรุนแรง ไม่ควรใช้ยาสมุนไพรควรส่งโรงพยาบาล

ศุนย์สมุนไพร ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ ลำปาง


เป็นหน่วยงานแห่งหนึ่งที่เริ่มดำเนินการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อการศึกษาหาความรู้อันนำไปสู่การค้นคว้าฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ โดยนำผลผลิตเหล่านี้ไปแปรรุปเป็นยาใช้รักษาโรคต่าง ๆ อันมีการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ ไม่มุ่งหวังผลกำไร เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง ใครสนใจอยากเรียน อยากรู้ในเรื่องใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับสมุนไพร สามรถมาศึกษาหาความรู้ ฝึกปฏิบัติ และ นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนสร้างผลิตผลออกจำหน่ายหารายได้ภายในครอบครัวได้

แนะนำสมุนไพรไทยของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ ลำปาง


1. สมุนไพรฟ้าทะลายโจร
สรรพคุณ
- แก้ไข้ แก้ไอ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ
- แก้โรคภูมิแพ้
- แก้โรคติดเชื้อที่มีอาการทำให้ปวดท้อง
- แก้อาการอักเสบ ลดความดันโลหิต รักษาโรคเบาหวาน เป็นยาขมเจริญอาหาร
2. สมุนไพรขมิ้นชัน
สรรพคุณ : รักษาโรคกระเพาะ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ขับลมและแก้ท้องเสีย
3. สมุนไพรเพ็ชสังฆาต
สรรพคุณ : รักษาโรคริดสีดวงทวาร
4. สมุนไพรบอระเพ็ด
สรรพคุณ : แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดน้ำตาลในเลือดบำรุงโลหิต บำรุงกำลังเป็นยาอายุวัฒนะและเป็นยาขมเจริญอาหาร
5. สมุนไพรไพล
สรรพคุณ : แก้บิด ขับลมในลำไส้ ใช้ภายนอก แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก ข้อเท้าแพลง ข้อบวมและโรคเหน็บชา
6. สมุนไพรดอกคำฝอย
สรรพคุณ : บำรุงโลหิต ลดความอ้วน ลดไขมันในเส้นเลือด ขับเหงื่อช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น ลดความดันโลหิต และไม่ทำให้เกิดอาการท้องผูก มีกลิ่นหอมชุ่มคอ
7. สมุนไพรหญ้าหนวดแมว
สรรพคุณ : ขับเบาขับปัสสาวะ แก้ปวดหลังปวดเอว ลดน้ำตาลในเลือด และช่วยขับกรดยูริคที่เป็นสาเหตุของโรคเก๊าต์ได้อีกด้วย
8. สมุนไพรชุมเห็ดเทศ
สรรพคุณ : เป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูก
9. สมุนไพรพญาช้างสาร
สรรพคุณ : แก้ปวดหลัง ปวดเอว บำรุงกำลัง
10.สมุนไพรเตยหอม
สรรพคุณ : รสหวานเย็น มีกลิ่นหอม บำรุงหัวใจ
11.สมุนไพรลูกใต้ใบ
สรรพคุณ : แก้ไขลดความร้อน ขับปัสสาวะ รักษาโรคติดเชื้อในทางเดิน ปัสสาวะ แก้ปวดเอว
และโรคตับอักเสบ
12. สมุนไพรกระเจี๊ยบแดง
สรรพคุณ : แก้ขัดเบา นิ่ว ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือด มี สารแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูก
13. สมุนไพรขิง
สรรพคุณ : แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียดท้อง ขับลมในกระเพาะลำไส้ แก้ไอ
บำรุงธาตุ เจริญอาหาร
14. สมุนไพรทองพันชั่ง
สรรพคุณ : เป็นยาเย็น ดับพิษไขทำให้ชุมคอ แก้วัณโรคปอด ระยะเริ่มแรก ปัสสาวะขัด ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเอว
15. สมุนไพรพริกไทย
สรรพคุณ : ขับลมจุกเสียด เผาผลาญไขมัน
16. สมุนไพรบุก
สรรพคุณ : ดูดขับไขมันลดระดับโคเลสเตอรอล
17. สมุนไพรใบแปะก๊วย
สรรพคุณ : บำรุงสมอง บำรุงประสาท
18. สมุนไพรแก้หอบหืด
สรรพคุณ : แก้แน่นหน้าอก หายใจขัด หอบหืด
19. สมุนไพรหนุมานประสานกาย
สรรพคุณ : แก้แพ้อากาศ ไอเรื้อรัง ช้ำใน ห้ามเลือด
20. สมุนไพรขี้เล็กไทย
สรรพคุณ : ลดอาการกังวลช่วยให้นอนหลับดี แก้เบื่ออาหารเพิ่มความดันโลหิต
และอื่น ๆ
ฯลฯ

ทัศนคติในการใช้สมุนไพร


สมุนไพรเป็นภูมิปัญญาไทยอย่างหนึ่ง ที่เราคนไทยควรจะอนุรักษ์รักษาและสืบทอดการเรียนรู้และพัฒนาให้เข้ากับยุคโลกปัจจุบัน จัดได้ว่าเป็นอาหารอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภูมิต้านทานแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่ช่วยรักษาสุขภาพ เมื่อใช้ไปแล้วเห็นผลชัดเจนควรหยุดใช้ไม่ควรใช้เรื่อย ๆ ไปตลอดเวลา
เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านของไทยให้คงอยู่คู่ความเป็นไท เรามาช่วยกันสนับสนุนผลผลิตและใช้ยาสมุนไพรกันเถอะ



ขอขอบคุณอาจารย์วนิดา ณ ลำปาง คุณนิรันดร์ ยงไสว พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ในศูนย์ข้อมูลเกษตรและสมุนไพรที่ให้ความอนุเคราะห์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้

ค้นหาข้อข้อมูลจาก
http: www. rdi . gpo . or.th /
แนะนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ ลำปาง
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายศรีวรรณ ขัตติยวงศ์