ครู

โดย วิภาพร ทองหลิ้ม  - 05 ต.ค. 2544


โครงการครูแห่งชาติ

เหตุผลความเป็นมา
       สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ตระหนักในความสำคัญของ "คุณภาพครู" ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพของผู้เรียนและการศึกษาของชาติโดยรวม แต่ด้วยสภาวะวิกฤตทั้งในด้านคุณภาพของครูและความศรัทธาของสังคม วิชาชีพครูเสื่อมถอย เด็กรุ่นใหม่ที่เก่งไม่สนใจเข้าเรียนครู ประกอบกับผู้ที่เป็นครูปัจจุบันเองขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ไม่มีระบบที่จะเอื้อหนุนให้ครูได้พัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพครูเท่าที่ควร ดังนั้น สำนักงานฯ จึงได้ดำเนินการโครงการครูแห่งชาติขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะยกย่องครูผู้มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น และมีแนวคิดเชิงนวัตกรรมในการพัฒนาการฝึกหัดครูและวิชาชีพครู ด้วยการประเมินผลงานในอดีต ยกย่องให้รางวัล และเสนอโครงการที่จะดำเนินการในอนาคต โครงการนี้ จึงมิได้เป็นเพียงการยกย่องให้รางวัลครูเหมือนโครงการอื่นเท่านั้น หากเป็นการส่งเสริมให้ ครูแห่งชาติได้ปฏิบัติงาน โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ของตนเองขยายผลเพื่อพัฒนาครูเครือข่าย อันจะส่งผลต่อการพัฒนาวิชาชีพ และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู รวมทั้ง ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศโดยรวม

ความหมายของครูแห่งชาติ
<ม่วง>        ครูแห่งชาติ จะหมายถึง ครูที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นประสบความสำเร็จ ในการประกอบอาชีพครู มีความรู้ ความรัก ความเป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อช่วยนักเรียน เพื่อนครู รวมทั้งชุมชน ซึ่งผลงานต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีขอบข่ายของครูแห่งชาติครอบคลุมครูทุกประเภททุกระดับทั้งการศึกษาในโรงเรียน นอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งจากสถาบันการศึกษารัฐ เอกชน และองค์กรประชาชน

ขั้นตอนการดำเนินงาน
1. จัดทำเกณฑ์มาตรฐานครูแห่งชาติ โดยมีจุดเน้นที่ความรู้ การปฏิบัติงาน และวิจารณญาณในวิชาชีพ
2. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งประกาศรับสมัคร โดยเปิดโอกาสให้ ทุกคน/องค์กร/หน่วยงานมีสิทธิ์เสนอชื่อครูที่สมควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูแห่งชาติ ไปยังสำนักงานฯ ยกเว้นเสนอชื่อตนเอง ตามแบบฟอร์มที่กำหนด
3. กระบวนการคัดเลือก

<ม่วง> 3.1 คณะกรรมการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ จากประวัติการทำงาน ประสบการณ์ ผลงานในอดีต และสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมจากบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาคัดเลือกรอบที่ 1
3.2 ประสานให้ครูที่ผ่านการคัดเลือกรอบที่ 1 เสนองาน/โครงการที่จะทำในอนาคต ซึ่งกำหนดให้เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งใน 3 รูปบบ ได้แก่
1) โครงการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษา เช่น การวิจัยในชั้นเรียน เป็นต้น
2) โครงการวิจัยและพัฒนาครูเครือข่าย
3) โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมครู

<ม่วง> 3.3 คณะกรรมการพิจารณางาน/โครงการที่เสนอ และคัดเลือกครู แห่งชาติ ประจำปี
3.4 ประกาศยกย่อง ให้รางวัล และค่าใช้จ่ายสนับสนุนการทำงานแก่ ผู้ได้รับการยกย่องเป็นครูแห่งชาติ ระดับ 1
4. การติดตามประเมินผล จะมีคณะกรรมการติดตามประเมินผลเป็นระยะและประเมินผลรวมเมื่อสิ้นสุดโครงการแต่ละปี นอกจากนี้ หากครูแห่งชาติท่านใดประสงค์จะก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้น ก็จะต้องเสนอโครงการที่จะดำเนินงานต่อไป และได้รับการพิจารณาตามขั้นตอนอีกครั้ง

ระดับขั้น/รางวัล
<ม่วง>        ครูแห่งชาติ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 , 2 และ 3 แต่ละระดับ/ขั้นจะมีรางวัลแตกต่างกันตามภาระงาน/โครงการที่รับผิดชอบ รางวัลที่ครูแห่งชาติจะได้รับ คือ การยกย่องประกาศเกียรติคุณและได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการสำหรับครูแห่งชาติ ระดับ 1 ได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 220,000 บาท/คน/ปี ส่วนครูแห่งชาติระดับ 2 และ 3 จะกำหนดวงเงินสนับสนุนในภายหลัง

เกณฑ์มาตรฐานครูแห่งชาติ
       เกณฑ์มาตรฐานครูแห่งชาติ มี 5 ด้าน เรียงตามน้ำหนักของเกณฑ์ ดังนี้
ก. การครองตนของครู
ข. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ค. การจัดการเรียนการสอนของครู
ง. ความสามารถทางวิชาการ
จ. การประสานกับชุมชน

       เกณฑ์แต่ละด้านมีเนื้อหา สรุปได้ดังนี้
       ก. การครองตนของครู หมายถึง การเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งด้านส่วนตัวและครอบครัว มีคุณธรรม จริยธรรม จรรโลงศิลปวัฒนธรรม มีวิญญาณครู และมีจรรยาบรรณครู
       ข. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หมายถึง การสร้างบรรยากาศทางกายภาพ มนุษย-สัมพันธ์ และวิชาการ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอน การคิดค้นโครงงานใหม่ ๆ คิดค้นนวัตกรรมเพื่อพัฒนา การเรียนการสอน โดยใช้สื่อ เทคโนโลยี และวิธีการอื่นที่จะพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ สร้างผลงานวิจัย ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัสดุท้องถิ่นในการสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน
<ม่วง>       ค. การจัดการเรียนการสอนของครู หมายถึง การมีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรดี ใช้วิธีการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นกระบวนการคิดและการแก้ปัญหาอันหลากหลาย ส่งเสริมให้นักเรียนศึกษาแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เอาใจใส่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง เลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสม ใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลายและครอบคลุม ใช้ข้อมูลจากการประเมินผลมาปรับปรุงการเรียนการสอน ตลอดทั้งไตร่ตรองการสอนของตนเพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น
<ฟ้า>       ง. ความสามารถทางวิชาการ หมายถึง การมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างแท้จริง สามารถติดตามทันความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิธีการเรียนการสอนโดยเฉพาะในวิชาที่ตนสอน สามารถประยุกต์เชื่อมโยงวิชาต่าง ๆ ให้เห็นความสอดคล้องกัน พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น และใช้กรณีศึกษาจากท้องถิ่นในการสอน เผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างครู สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และมีการสาธิตผลงาน หรือโครงงานของนักเรียนและของครูอย่างสม่ำเสมอ และสามารถใช้กระบวนการวิจัยพัฒนาความรู้และกระบวนการเรียนการสอน
       จ. การประสานงานกับชุมชน หมายถึง การเป็นบุคคลที่ชุมชนยอมรับในความสามารถ บุคลิกภาพ และคุณงามความดี เป็นผู้นำชุมชนทางวิชาการ เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพครูสาขาวิชาที่ตนสอน รู้จักองค์ประกอบของชุมชนอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนดี มีความสามารถในการนำชุมชนมาช่วยโรงเรียน และนำโรงเรียนออกช่วยชุมชน และร่วมมือกับชุมชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

<ม่วง> เกณฑ์การพิจารณาโครงการที่ครูแห่งชาติจะดำเนินการ
       เกณฑ์รวม ครูที่ผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์มาตรฐานครูแห่งชาติแล้ว จะต้องเสนอโครงการที่จะทำในอนาคต เป็นโครงการ 3 ปี โดยมีแผนการดำเนินงานแยกเป็นรายปี ทั้งนี้ โครงการที่นำเสนอนั้น จะต้องเป็นโครงการวิจัยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งใน 3 รูปแบบ คือ
1) โครงการวิจัยและพัฒนาด้านการเรียนการสอน
2) โครงการวิจัยและพัฒนาครูเครือข่าย
3) โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมครู

<ม่วง>       โดยมีเกณฑ์การพิจารณาในภาพรวม ดังนี้
<ฟ้า> 1. วัตถุประสงค์ของโครงการ จะต้องเป็นโครงการที่มุ่งเพื่อพัฒนาการฝึกหัดครู วิชาชีพครู หรือคุณภาพการศึกษาโดยรวม
2. ลักษณะของโครงการ จะต้องมีความเป็นนวัตกรรม และแสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
3. ผลของโครงการ จะต้องส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการเรียนการสอนของครูและนักเรียน
4. ความเป็นไปได้ของโครงการ จะต้องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและความเชี่ยวชาญของผู้เสนอโครงการ วิธีการดำเนินงาน ระยะเวลาและงบประมาณ การสนับสนุนของผู้บริหารโรงเรียน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น ฯลฯ
นอกจากนี้ โครงการที่จะนำเสนอควรมีความชัดเจนและสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของโครงการ มีการออกแบบการวิจัย และวางแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนทั้งกิจกรรม ขั้นตอน ระยะเวลาดำเนินงาน การติดตามและประเมินผลโครงการ

       เกณฑ์เฉพาะของโครงการที่ครูแห่งชาติจะดำเนินการ
1. โครงการวิจัยด้านการเรียนการสอน
<ม่วง> 1.1 หลักการและเหตุผลต้องเชื่อมโยงและสอดคล้องกับประเด็นปัญหา
1.2 มีการศึกษาผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
1.3 วัตถุประสงค์ของโครงการต้องระบุชัดเจนว่าโครงการจะก่อให้เกิดผลอย่างไร และจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือตอบปัญหาอะไร
1.4 มีระเบียบวิธีวิจัยที่เหมาะสมสอดคล้องกับประเด็นปัญหา
1.5 มีแผนงานวิจัยที่ระบุกิจกรรมและตารางเวลาของกิจกรรมต่าง ๆ อย่างชัดเจน สามารถปฏิบัติได้
1.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ต้องระบุผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ
2. โครงการวิจัยและพัฒนาครูเครือข่าย
<ม่วง> 2.1 มีรูปแบบของการเป็นครูต้นแบบที่ชัดเจน
2.2 มีครูในเครือข่ายอย่างน้อย 50 คน โดยสามารถระบุที่อยู่และสังกัดได้ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูในโรงเรียนที่ครูแห่งชาติสังกัดและ ในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นลำดับแรก
2.3 มีแผนการดำเนินงานที่ระบุกิจกรรมและตารางเวลาของกิจกรรมอย่างชัดเจน
2.4 มีเกณฑ์การประเมินผลและประเมินครูในเครือข่ายเป็นระยะ ๆ
3. โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมครู
<ม่วง> 3.1 หลักการและเหตุผลต้องเชื่อมโยงสอดคล้องกับประเด็นปัญหา
3.2 มีการศึกษาผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
3.3 วัตถุประสงค์ของโครงการต้องระบุชัดเจนว่าโครงการจะก่อให้เกิดผลอย่างไร และจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือตอบปัญหาอะไร
3.4 สร้างรูปแบบการพัฒนาครู เปรียบเทียบกับรูปแบบเดิมที่มีอยู่ พร้อมทั้ง ชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสีย
3.5 มีการทดลองรูปแบบที่สร้างขึ้น
3.6 มีการประเมินผลและปรับแก้รูปแบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

<ฟ้า>องค์ประธานงานประกาศเกียรติคุณครูแห่งชาติ
       สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชนที่มาช่วยงานโครงการครูแห่งชาติ ได้ตระหนักในพระปรีชาสามารถและพระจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงสนพระทัยในการศึกษาของชาติ ทรงเป็น "ครู" และทรงเป็นแบบอย่างของครูที่แท้จริง อันเป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชนชาวไทยตลอดมา จึงมีความเห็นร่วมกันในการกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานและประทานรางวัลในงานประกาศเกียรติคุณครูแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2541 สำหรับงานประกาศเกียรติคุณครูแห่งชาติ ประจำปี 2542 นี้ ก็ได้รับพระกรุณาธิคุณเช่นเดิม โดยเสด็จมาเป็นประธานในวันที่ 7 ตุลาคม 2542

<ม่วง>ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
       โครงการครูแห่งชาติเป็นโครงการที่จะมุ่งแก้ปัญหาคุณภาพครู โดยสร้างแรงจูงใจให้ครูได้พัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนตลอดเวลา โครงการนี้จะได้ครูดีครูเก่งที่จะช่วยพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยการสร้างและขยายเครือข่ายออกไปอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง จะเป็นการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำให้เกิดมาตรฐานวิชาชีพครูที่ทุกคนยอมรับ เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่วงการครู ซึ่งในที่สุดแล้วจะสามารถเรียกศรัทธาและความเชื่อถือต่อวิชาชีพครูจากสังคมและชุมชนกลับคืนมา อันจะส่งผลให้คนดีคนเก่งสนใจเข้ามาสู่วิชาชีพครูมากขึ้น และส่งผลต่อคุณภาพของการศึกษาของชาติสืบไป

<ม่วง>ผลการดำเนินงาน
       สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้ดำเนินการคัดเลือกครูแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ได้ครูแห่งชาติประจำปี 2541 จำนวน 4 คน และครูแห่งชาติประจำปี 2542 จำนวน 6 คน ซึ่งครูแห่งชาติทั้ง 10 คน กำลังดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนา ดังนี้
1) นายประวิทย์ บึงสว่าง ครูแห่งชาติปี 2541 สาขาวิชาเคมี โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ : โครงการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาเคมีที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้มัลติมีเดียเพื่อการศึกษาทดลองทางเคมี
2) นายประดิษฐ์ เหล่าเนตร์ ครูแห่งชาติปี 2541 สาขาวิชาชีววิทยา โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จังหวัดพิษณุโลก : โครงการนำรูปแบบการเรียนการสอนตามแนว CONSTRUCTIVISM (การเรียนรู้จากกลุทมและการค้นพบ) ไปสร้างและพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนของครูเครือข่ายที่สอนวิชาชีววิทยาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร
3). นายทองดี แย้มสรวล ครูแห่งชาติปี 2541 สาขาวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี : โครงการการศึกษารูปแบบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และการประเมินโครงการพัฒนาครูเครือข่ายการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
4) นางพิศวาท น้อยมณี ครูแห่งชาติปี 2541 สาขาวิชาภาษาไทย โรงเรียนชลกัลยานุกูล จังหวัดชลบุรี : โครงการการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย (การพูด) ที่เน้นการปฏิบัติจริง โดยใช้สื่อ "พูดดีมีอนาคต" แล้วชวนครูทดลองในห้องเรียน
5) นางประไพ แก้วนาวี ครูแห่งชาติปี 2542 สาขาภาษาไทย โรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี : โครงการการศึกษาผลการใช้สื่อประสมประกอบกิจกรรมการเรียนการสอนทักษะการเขียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และประเมินผลการเรียนโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน (portfolio)
6) นางสาวสาลี่ ศิลปสธรรม ครูแห่งชาติปี 2542 สาขาภาษาอังกฤษ โรงเรียนบ้านดอนขุนห้วย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี : โครงการพัฒนาความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานของครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
7) นายถนอมเกียรติ งานสกุล ครูแห่งชาติปี 2542 สาขาคณิตศาสตร์ โรงเรียนเมืองถลาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต : โครงการพัฒนากิจกรรมเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางประกอบบทเรียนโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
8) นายศิลปชัย บูรณพานิช ครูแห่งชาติปี 2542 สาขาฟิสิกส์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม) : โครงการสร้างมโนทัศน์เรื่อง การเคลื่อนที่แบบหมุนโดยกิจกรรมการทดลองและสาธิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
9) นางอรพิน ศรีสวรรค์ ครูแห่งชาติปี 2542 สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป โรงเรียนบ้านนาแก้วประชารัฐ อ.เกาะคา จ.ลำปาง : โครงการพัฒนากระบวนการสอนวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดลำปาง
10) นายภักดี รัชตวิภาสนันท์ ครูแห่งชาติปี 2542 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย อ.เมือง จ.ลำปาง : โครงการพัฒนาสมรรถภาพด้านวิทยาศาสตร์ของครูเครือข่ายโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตภาคเหนือตอนบน


<ฟ้า>หน่วยงานที่รับผิดชอบ
การดำเนินงานโครงการครูแห่งชาติปี 2541 และ 2542 หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักงานปฏิรูปวิชาชีพครู และตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นไป หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการครูแห่งชาติคือ กองทุนรางวัลเกียรติยศแห่งวิชาชีพครู