Flannel Board Materials

โดย วิลาวัณย์ ปันงาม  - 05 ต.ค. 2544


       การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันสื่อการสอนนับว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสื่อการสอนจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียนและสื่อการสอนยังช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ชัดเจนขึ้นจึงเป็นการช่วยประหยัดทั้งเวลาสอนของครูผู้สอนและประหยัดเวลาเรียนของผู้เรียนอีกด้วย
       และถ้าเราจะนับดูแล้วสื่อการเรียนการสอนก็มีอยู่มากมายหลายประเภทและแต่ละประเภทก็มีวิธีใช้และประโยชน์ที่แตกต่างกันไป และแผ่นป้ายผ้าสำลีก็เป็นสื่อการเรียนการสอนอีกประเภทหนึ่งที่สามารถทำได้ง่าย สะดวกต่อการนำไปใช้และยังช่วยสร้างความสนใจและความประทับใจแก่ผู้เรียนได้ดีทีเดียว
       แผ่นป้ายสำลีเหมาะสำหรับใช้เป็นสื่อการสอนในทุกระดับชั้น และคุณลักษณะพิเศษของแผ่นป้ายสำลีก็คือ ครูสามารถติดและถอดภาพ หรือข้อความที่แสดงบนแผ่นป้ายผ้าสำลีได้สะดวก ง่ายกว่าวัสดุประเภทอื่นจึงเหมาะที่จะใช้ประกอบการเล่านิทาน แสดงเรื่องราวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเปรียบเทียบกฏ และทฤษฏีทางคณิตศษสตร์ คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นต้น

       หลักการเลือก ผลิต และใช้วัสดุหรือชิ้นส่วนกับแผ่นป้ายผ้าสำลี

       ในการพิจารณาเลือกหรือผลิตวัสดุมาใช้กับแผ่นป้ายผ้าสำลีให้ได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ใช้ได้สะดวกรวดเร็วและน่าสนใจ ควรพิจารณาในสิ่งต่อไปนี้

1. วัสดุหรือชิ้นส่วนควรมีขนาดพอเหมาะไม่เล็กเกินไปเพราะอาจทำให้ผู้เรียนมองเห็นไม่ชัดเจน และก็ไม่ควรใหญ่โตหรือมีนำหนักมากเพราะจะทำให้การติดบนแผ่นป้ายสำลีไม่ได้ผล ร่วงหลุดได้ง่าย ทำให้ไม่น่าสนใจและก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายแก่ผู้สอนและผู้เรียน

2. สีของวัสดุหรือชิ้นส่วนควรตัดกับสีพื้นของแผ่นป้ายผ้าสำลี ถ้าผ้าสำลีสีอ่อนก็ควรใช้วัสคุสีเข้มและถ้าผ้าสำลีสีเข็มก็ควรใช้วัสดุสีอ่อน แต่ในกรณีที่ผ้าสำลีสีเข้มและต้องการใช้วัสดุ ภาพ หรือชิ้นส่วนสีเข้มก็อาจทำได้โดยการเหลือขอบขาวรอบๆ ภาพ หรือชิ้นส่วนนั้นๆ ก็จะทำให้ชิ้นส่วนลอยเด่นขึ้นมาได้

3. ในการติดกระดาษทรายหลังภาพ หรือชิ้นส่วนควรติดตามจุดต่างๆ เพื่อยึดภาพหรือชิ้นส่วนให้ติดกับแผ่นป้ายผ้าสำลีให้ดีไม่หลุดง่าย และควรใช้กระดาษทรายเบอร์ 4 เพราะมีความหยาบพอที่จะติดกับแผ่นป้ายผ้าสำลีได้ดี



4. ก่อนนำชิ้นส่วนและแผ่นป้ายผ้าสำลีมาใช้ในการเรียนการสอน ผู้สอนควรได้ทดลองใช้มาก่อน เพื่อลดปัญหาในการใช้จริงๆ และยังช่วยในการวางชิ้นส่วนลงในตำแหน่งที่เหมาะสมอีกด้วย


5. เรียงลำดับชิ้นส่วนเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้ ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวายสับสน สร้างความเบื่อหน่ายแก่ผู้เรียน

6. ไม่ควรใช้ชิ้นส่วนจำนวนมากเกินความจำเป็น ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นจะต้องมีความสำคัญจริงๆ จึงจะดึงดูดความสนใจผู้เรียนได้ดี

7. ตั้งแผ่นป้ายผ้าสำลีให้อยู่ในระดับสายตาผู้เรียนในตำแหน่งที่ผู้เรียนทุกคนมองเห็นได้ชัดเจน ควรตั้งให้เอนไปด้านหลังเล็กน้อยเพื่อช่วยให้ชิ้นส่วนติดกับแผ่นป้ายได้ดี

8. ในขณะที่ติดชิ้นส่วนลงบนแผ่นป้ายผ้าสำลี ผู้สอนควรหันหน้าไปทางผู้เรียน และอยู่ด้านข้างของแผ่นป้าย ไม่ควรยืยหันหลังและบังชิ้นส่วนทำให้ผู้เรียนมองไม่เห็นในขณะที่ผู้สอนกำลังติดชิ้นส่วนซึ่งจะทำให้ผู้เรียนขาดความสนใจในสิ่งที่ผู้สอนต้องการนำเสนอ

9. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้ชิ้นส่วนและแผ่นป้ายสำลีอย่างทั่วถึงในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน

10. การเก็บรักษาชิ้นส่วนควรเก็บในลักษณะแบนราบ ถ้าชิ้นส่วนงอหรือโค้งจะทำให้ยากต่อการติดบนแผ่นป้าย และมักจะหลุดหล่นอยู่เสมอๆ และควรเก็บไว้ในกล่องที่มีฝาปิดด้านบนโดยรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ สะดวกต่อการใช้

11. แผ่นป้ายผ้าสำลีควรใส่ซองหรือหุ้มด้วยกระดาษเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และวางไว้ในลักษณะแบนราบ มิฉะนั้นจะเกิดปํญหาติดชิ้นส่วนไม่อยู่ หลุดหล่นบ่อยๆ

12. ใช้แปรงขนอ่อนแปรงแผ่นป้ายผ้าสำลีเบาๆ จะทำให้ขนของแผ่นป้ายสำลีฟูติดกับชิ้นส่วนได้ง่าย และช่วยให้แผ่นป้ายผ้าสำลีน่าใช้



* และส่วนมากครูจะนิยมใช้ด้านหลังของแผ่นป้ายผ้าสำลีทำเป็นกระเป๋าผนัง เพื่อใช้เป็นที่เสียบบัตรคำ ก็นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าได้ดีทีเดียว

       การจัดทำแผ่นป้ายผ้าสำลี

1. ใช้แผ่นกระดาษอัด หรือกระดาษอัดที่มีน้ำหนักเบา ขนาด 24 " x 30 " และผ้าสำลีหรือผ้ากำมะหยี่แบบราคาถูก ขนาด 28 " x 34 "

2. ดึงผ้าสำลีให้ตึง ขึงรอบกระดาษอัดนั้นโดยดึงส่วนริมไปข้างหลังกระดาษอัดทีละด้าน แล้วใช้ที่เย็บกระดาษ หรือหมุดกดไว้ให้แน่น เมื่อทำครบทั้งสี่มุมสี่ด้านแล้ว ก็อาจใช้เทปกาวอย่างเหนียวติดชายผ้าสำลีกับกระดาษอัดโดยตลอดก็ได้ เพื่อความเรียบร้อยและแน่นหนา

3. ตัวอักษร บัตรคำ ภาพตัดที่จะะนำมาติดบนผ้าสำลี อาจทำด้วยผ้าสำลี กระดาษทราย ถ้าเป็นกระดาษแข็งธรรมดาก็อาจติดหลังกระดาษนั้นด้วยกระดาษทราย และควรทดลองใช้ดูว่าสิ่งเหล่านี้จะเกาะติดกับแผ่นป้ายผ้าสำลีได้ดี

4. ผ้าสำลีที่มีสีสดใสนั้นเมื่อนำมาตัดเป็นภาพลักษณะต่างๆ จะช่วยดึงดูดความสนใจในการจัดภาพบนแผ่นป้ายผ้าสำลีได้เป็นอย่างดี



       ข้อสังเกตในการใช้แผ่นป้ายผ้าสำลี

1. ตั้งแผ่นป้ายผ้าสำลีในลักษณะเอนเล็กน้อย ถ้าเป็นแผ่นป้ายผ้าสำลีขนาดเล็ก อาจใช้ตั้งแสดงบนขาหยั่งแสดงภาพ

2. ไม่ควรแสดงชิ้นส่วนทั้งหมดพร้อมๆกัน ควรติดหรือแสดงชิ้นส่ววนทีละชิ้น เพื่อเร้าความสนใจของผู้เรียน

3.การติดชิ้นส่วน ควรติดช้าๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาให้เข้าใจเสียก่อนจึงค่อยเอาออก

4. ถ้าเป็นคำศัพท์หรือข้อความ ให้เขียนศัพท์ทั้งคำ หรือทั้งข้อความลงบนบัตรตคำ ดีกว่าเขียนอักษรติดเป็นตัวๆ เพราะจะทำให้เสียเวลา

5. ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแสดงชิ้นส่วนบนแผ่นป้ายผ้าสำลีด้วยเสมอ

6. อาจใช้แผ่นป้ายผ้าสำลี นำเข้าสู่บทเรียนประกอบการอธิบาย และสรุปหรือทบทวนก็ได้

7. ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้ด้วยเสมอ

      หลักการประเมินผลการใช้แผ่นป้ายผ้าสำลี

ในการประเมินผลการใช้แผ่นป้ายผ้าสำลีในการสอนควรตั้งปัญหาถามดังนี้
1. ใช้แผ่นป้ายผ้าสำลีไดสมกับความมุ่งหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

2. การใช้แผ่นป้ายผ้าสำลีนั้นตรงกับความต้องการ ความสนใจของผู้เรียนหรือไม่

3. วัสดุที่ใช้แสดงเหมาะสมกับเนื้อเรื่องหรือไม่

4. ใช้ได้น่าสนใจหรือไม่ การตัดกันของสี และการใช้เนื้อที่ได้เหมาะสมหรือไม่

5. การใช้แผ่นป้ายผ้าสำลีครั้งนั้นๆ ได้ผลดีที่สุดหรือไม่ มีวัสดุอุปกรณ์การสอนอย่างอื่นจะใช้ได้ดีกว่านี้ไหม

6. การใช้ครั้งหนึ่งๆแสดงแต่เรื่องราวหรือแนวความคิดอันชัดเจนเพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่

       แผ่นป้ายผ้าสำลีมีคุณค่าในการเรียนการสอน เก็บรักษาง่าย ราคาในการผลิตถูก และน้ำหนักเบา จับถือได้ถนัดมือ การติดตั้งใช้เวลาสั้นพร้อมที่จะใช้งานได้เสมอ ทั้งยังสอนได้ทุกวิชาทุกระดับชั้นและช่วยเร้าความสนใจของผู้เรียนได้ดี ฉะนั้นการเรียนรู้ย่อมได้ผลดีถ้าครูรู้จักนำแผ่นป้ายผ้าสำลีมาใช้ในการสอนให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตามแผ่นป้ายผ้าสำลีจะใช้ได้ผลดียิ่งขึ้นก็ต่อเมื่อนักเรียนมีความสนใจด้วย


ที่มา
นิพนธ์ ศุขปรีดี.โสตทัศนศึกษา.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ:แพร่พิทยา อินเตอร์เนชั่นแนล,2518.
วาสนา ซาวหา.สื่อการเรียนการสอน.กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์,2533.
สมหญิง กลิ่นศิริ.โสตทัศนศึกษาเบื้องต้น.กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยศิลปากร,2521.