การเป็นผู้นำ

โดย ธัญชนก กันศร  - 17 ก.ย. 2544




ผู้นำ


       ผู้คนมักถกเถียงกัน คือ "ผู้นำเป็นสิ่งที่กำหนดมาแต่กำเนิดหรือเกิดจากการฝึกฝน
       ราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า ผู้นำ คือ บุคคลที่มีความสามารถจริง
หรือสมาชิกในกลุ่มเชื่อว่ามีความสามารถแก้ปัญหาต่างๆและให้เป็นผู้นำในกลุ่ม
มีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่ม
      เมื่อมีการพิเคราะห์คำจำกัดความแล้ว ผู้นำจึงต้องมีคุณสมบัติเด่นในตัวเอง หรือสมาชิกในกลุ่มเชื่อว่ามีความสามารถ แต่ก็คงต้องมีคำถามต่ออีกว่า เฉพาะคนที่มีความสามารถพิเศษหรือมีพรสวรรค์เท่านั้นหรือที่จะเป็นผู้นำ หรือคนเราสามารถฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้นำได้
       หากพิจารณาที่ว่า"ทุกคนเป็นหัวไม่ใช่หาง" นั่นคือเราทุกคนเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ตามและถ้าเป็นเช่นนั้นหลายคนคงสงสัยหรือแย้งว่าสังคมคงปั่นป่วนวุ่นวายเมื่อทุกคนเป็นใหญ่เป็นหัวหน้ากันหมดไม่มีใครเป็นลูกน้องมีแต่หัวคิดไม่มีคนทำงาน แล้วกิจการทั้งหลายจะสำเร็จได้อย่างใด


เราทุกคนเป็นผู้นำได้


เราทุกคนเป็นผู้นำในเป้าหมายชีวิตเราเองหรือจะเรียกว่างานในความรับผิดชอบตามความถนัดของเราก็ได้ แต่ทุกวันนี้เรามีปัญหาไม่สามารถเป็นผู้นำได้เพราะเรากระเสือกกระสนที่จะเป็นผู้นำในงานที่เราไม่ถนัด
      ในองกรณ์หนึ่ง กิจกรรมขององกรณ์เป็นการฝึกอบรมโดยผู้ฝึกอบรมจะพักที่สถาบันเจ้าหน้าที่ขององกรณืแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับวิชาชีพ มีหน้าที่ให้คำ
ปรึกษาแก่ผู้เข้ารับการอบรม และระดับธุรการทั่วไป มีหน้าที่ดูแลงานในสำนักงาน รวมทั้งทำอาหาร ทำความสะอาด และดูแลสวน พนักงานระดับธุรการสามารถจะปรับเป็นพนักงานระดับวิชาชีพได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถและการพัฒนาตนเองของพนักงานนั้นๆ ฉะนั้นการยอมรับตนเองอย่างที่เราเป็น(accept yourself as
you are)จึงเป็นก้าวแรกแห่งการเป็นผู้นำ
       เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นคนถนัดอะไรคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ปัจจุบันหลายคนกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตไม่รู้ว่าตนเองเป็นคนอย่างไร ถนัดอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร เรามักถูกหล่อหลอมให้อยู่ในกรอบความต้องการของสังคม ของครอบครัวซึ่งบางครั้งอาจขัดแย้งกับตัวเราเรารับรู้ความคาดหวังของสังคมตั้งแต่เด็กจนคิดว่าเป็นความต้องการของเราด้วย แต่เราก็สามารถสังเกตเห็นอาการที่เกิดจากความขัดแย้งเช่นนั้นได้
       ค้นตัวเองให้พบและพัฒนาจุดเด่นของตนเองให้ดีที่สุด


การพบความเป็นผู้นำในตัวเรา


       เราทุกคนจะเป็นผู้นำที่ดีที่สุดในสิ่งที่เราถนัด ฉะนั้นการจะพบความเป็นผู้นำในตัวเรา เราต้องพบความถนัดในตัวเราก่อน วิธีธรรมดาที่สุดที่จะค้นหาความถนัดของเราคือ ถามตัวเอง ถ้าคิดไม่ออกก็อาจสอบถามจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด ว่าสมัยที่เราเป็นเด็กเราแสดงความสามารถพิเศษอะไรหรืออาจจะถาามเพื่อนสนิทหรือหัวหน้างานที่เรารู้จัก เป็นใครก็ได้ที่เรารู้จักดี ถ้าได้คำตอบไม่ชัดเจน อาจใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง
       แบบทดสอบความถนัดโดยการถามตัวเอง
1 ประสบการณ์ที่ทำให้เรามีความสุขมาก 3 ตัวอย่าง
2 ความสำเร็จที่เราภูมิใจมาก 3 ตัวอย่าง
3 ระบุชื่อบุคคลที่เราประทับใจมาก 3 คน
4 ระบุคุณสมบัติเด่น 3 ประการของบุคคลในข้อ 3
       เมื่อได้คำตอบของข้อ 1-4 ให้นำคำตอบทั้งหมดมาเรียงกัน เราจะพบสิ่งที่เหมือนกันในคำตอบเหล่านี้ สิ่งที่เหมือนซ้ำๆกันนี้แสดงถึงความเป็นตัวเรา เพราะมนุษย์เราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเป็นเด็กยังไม่มีการเสแสร้งจะทำสิ่งที่ตนชอบทำได้แม่นยำ ยิ่งถ้าประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนถนัดจะมีความชื่นชมมากและจำได้แม่นยำ
เพราะสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในตัวเราแลัวเราจะชื่นชมบุคคลที่มีบางอย่างเหมือนเรา
       ความชอบที่เป็นความถนัดจะเป็นสิ่งที่ชอบเป็นพิเศษไม่ใช่สิ่งที่คนชอบทั่วไป เช่นคนทั่วไปชอบดนตรี แต่คนที่มีพรสวรรค์ทางดนตรีจะชอบดนตรีเป็นพิเศษ


การพัฒนาความสามารถในการเป็นผู้นำ


       เมื่อรู้จักความถนัดของเราแล้ว เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องพัฒนาความสามารถในตัวเราให้เกิดผลและเจริญยิ่งขึ้น การพัฒนาไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ
       ผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในอาชีพของตน คือผู้ที่ได้ใช้พรสวรรค์ของเขาในอาชีพ อาชีพจึงเป็นความสนุกและชื่นชอบ ทุกครั้งที่เกิดผลสำเร็จเขาจะมีกำลังเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น เขาจึงมีความสำเร็จอยู่เหนือความสำเร็จและมีความพอใจในชีวิตสูง
       แต่ในบางสถานการณ์ บางพื้นที่ เราอาจไม่สามารถใช้พรสวรรค์ในวิชาชีพโดยตรง แต่เราไม่ควรละเลยความสามารถในตัวเรา ควรหาโอกาสหรือหาทางในการใช้พรสวรรค์ให้ได้ อาจจะเป็นงานอดิเรกหรืออาสาสมัครแล้วเราจะพบว่าชีวิตมีความพอใจมากขึ้น มิฉะนั้นเราจะกลายเป็นคนไม่มีความพอใจในชีวิต


ผู้นำและอุปสรรค


       ผู้นำเป็นตำแหน่งหอมหวานที่หลายคนปรารถนา เมื่อพูดถึงผู้นำเรามักคิดถึงลาภ ยศ สรรเสริญ เราจึงต่อสู้กันเพื่อให้ได้ตำแหน่งผู้นำ โดยลืมนึกถึงอีกด้านหนึ่งของผ้นำที่เป็นความยากลำบากต้องทำงานหนัก อดทนต่อคำวิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรม บางครั้งไร้เหตุผลถูกเข้าใจผิด ให้กำลังใจลูกน้องและเพื่อนร่วมงาน แก้ปัญหาความขัดแย้งในทีมงานและหลายๆครั้งต้องเผชิญกับความกดดันรอบด้าน เช่น การเงิน ความเข้าใจผิดจากผู้อื่น เงื่อนไขทางสังคม กฎหมายและการเมือง ความกดดันและความทุกข์ยากเหล่านี้เป็นของคู่กับความเป็นผู้นำ แยกจากกันไม่ได้ เหมือนเด็กที่น่ารักย่อมมาพร้อมกับความซน ถ้าจะดูแลเด็กก็จะได้ทั้งความน่ารักและความซนของเขา
       ถ้าศึกษาชีวประวัติของผู้นำแต่ละท่าน เราจะพบว่าผู้นำทุกท่านต้องเผชิญปัญหาโดยไม่มีข้อยกเว้นสักคนเดียว ท่านเหล่านี้ล้วนต้องประสบกับความทุกข์ยากมาแล้วทั้งสิ้น สิ่งหนึ่งที่คล้ายกันในตัวผู้นำที่ได้รับการยกย่องนับถือ คือ ทุกท่านไม่ยอมจำนนต่อความยากลำบาก ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของอุปสรรค แต่หาหนทางเอาชนะอุปสรรคเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอุปสรรคหรือปัญหานั้นกระทบส่วนรวม ถ้าบุคคลใดเรียกตัวเองว่า ผู้นำ แต่ไม่มีคุณสมบัตืเหล่านี้บุคคลนั้นไม่ใช่ผู้นำจริง ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งสูงเพียงใดเขาเป็นได้เพียงผู้อยู่ในตำแหน่ง[Position Holder]แต่ไม่ใช่ผู้นำ สังคมใดที่มีผู้นำอยู่ในตำแหน่งสูง แต่ไม่มีคุณธรรมของความเป็นผู้นำ เปรียบเสมือนใส่ยาพิษลงในอาหารไม่ช้าความหายนะจะเกิดแก่สังคมนั้น
       เราทุกคนมีหน้าที่พัฒนาความเป็นผู้นำในตัวเราและสนับสนุนผู้อื่นให้เป็นผู้นำในส่วนที่เขาถนัด


       ที่มา
สมพิศ วิชญวิเชียญ.เป็นหัวไม่ใช่หาง.กรุงเทพ,2542