กิจกรรมการเรียนการสอน

โดย ศุภาวดี ทาแดง  - 05 ต.ค. 2544


กิจกรรมการเรียนการสอน


      กระบวนการเรียนการสอน จะประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆซึ่งจะต้องยึดหลักการของสาขาวิชาต่างๆหลายด้าน เช่น สาขาวิชาการสื่อสาร จิตวิทยา มานุษยวิทยา สังคมวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์แขนงอื่นๆนำมาบูรนาการเข้าสู่กิจกรรมการเรียนการสอนโดยพิจารณาการเรียนการสอนที่ได้เตรียมไว้ ตามแบบเตรียมการสอนเป็นขั้นตอน ดังนี้
       1.กิจกรรมสร้างความพร้อมในการเรียน เป็นกิจกรรมเพื่อจูงใจผู้เข้าสู่เนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นกิจกรรมที่ควรใช้เวลาให้สั้นที่สุดโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3-5 นาทีและไม่ควรมากกว่า 10 นาที การเตรียมความพร้อมสำหรับการเตรียมเนื้อหาด้านความรู้ความเข้าใจไม่ควรใช้เวลามากกว่าร้อยละ 10 ของเวลาและใช้เวลาไม่มากกว่าร้อยละ 15 ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนการสอนทักษะ
       การสร้างความพร้อมในการเรียนนี้ นอกจากจะเตรียมผู้เรียนแล้วควรวางแผนในการเตรียมสภาพแวดล้อมทางการเรียนด้วย ปัจจุบันมีการกล่าวถึงเรื่องสภาพแวดล้อมทางการเรียนกันมาก คำว่า สภาพแวดล้อมทางการเรียน หมายรวมถึง ระบบนิเวศวิทยาการเรียนการสอน หรือการศึดษาด้วย ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลไม่น้อยในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน กล่าวคือ ถ้าทำสภาพโรงเรียน ห้องเรียน และอื่นๆภายในโรงเรียนน่าอยู่ สภาพจิตใจของผู้สอนและผู้เรียนก็จะดีตามขึ้นไปด้วยนับเป็นการจูงใจในการเรียนขั้นพื้นฐานได้เป็นอย่างดี
       2.กิจกรรมการเรียนการสอน เป็นกิจกรรมการสร้างการเรียนรู้ซึ่งผู้สอนและผู้เรียนดำเนินการตามรูปแบบ ที่ได้ออกแบบวางแผนไว้ กิจกรรมการเรียนการสอนในส่วนที่เป็นเนื้อหาและภารกิจนั้นไม่ควรใช้เวลาเพื่อการนี้มากกว่า 40 นาที สำหรับคาบการสอน 1 ชั่วโมง ถ้าเป็นการสอนแบบสาธิตไม่ควรใช้เวลาสาธิตนานกว่าร้อยละ 25 ของเวลาทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติหรือทำความเข้าใจและอภิปรายซักถาม
       กิจกรรมการเรียนการสอน เป้นกระบวนการที่ผู้สอนต้องเข้าร่วมกิจกรรมการเรียน ผู้สอนควรใช้เทคนิคการสอน สื่อและแหล่งความรู้อย่างเหมาะสม เพื่อให้กิจกรรมการเรียนได้ผล ผู้สอนควรจัดกิจกรรมการเรียน ดังนี้
       2.1ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ หรือมีส่วนร่วมในการเรียน อาจเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มย่อยในลักษณะของกิจกรรมการเรียนตามจุดประสงค์การเรียนโดยใช้ประยุกต์ทฤษฎีการสอนมาเป็นเทคนิคการสอนให้เหมาะสม
       2.2 ผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะด้วยการใช้เทคนิคและสื่อการเรียนที่เหมาะสมมีการให้ข้อมูลย้อนกลับ(Feedback) แก่ผู้เรียนทันทีเมื่อมีข้อสงสัย
       2.3 ให้การเสริมแรงหรือประสบการณ์แห่งความสำเร็จเมื่อผู้เรียนปฏิบัติถูกต้องตามจุดมุ่งหมายอาจงดการเสริมแรง เมื่อผู้เรียนยังไม่ประสบความสำเร็จ
       2.4 จัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างเป็นขั้นตอนทีละน้อยเพื่อให้ผู้เรียนได้ครุ่นคิดและจัดกระบวนการความรู้ได้ทันและเหมาะสม มีการสอนซ่อมเสริมสำหรับผู้เรียนที่เรียนซ้ำและเร็วตามลำดับ

       3. กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอน เป็นกิจกรรมเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้นมีความเข้าใจชัดเจนรวมทั้งมีกระบวนการจัดความรู้อย่างมีระบบจดจำได้นานขึ้นและเป็นการนำไปสู่การเรียนการสอนครั้งต่อไป กิจกรรมการส่งเสริมสนับสนุนทำได้โดยการสรุปทบทวนและการทำกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น การค้นคว้าเพิ่มเติมในห้องสมุดสื่อโรงเรียน การเตรียมงานสำหรับการเรียนครั้งต่อไป

       ข้อคิดในการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
       1.กิจกรรมการเรียนการสอนควรสอดคล้องและตอบสนองกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
       2.ควรคำนึงถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน และประสบการณ์เดิมหรือพฤติกรรมเบื้องต้น(ความรู้เดิม)ของผุ้เรียน
       3.กิจกรรมการเรียนการสอน ต้องพัฒนาผู้เรียนตามจุดมุ่งหมายการเรียนการสอนทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย
ื        4. ควรเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมหรือลงมือปฏิบัติอย่างทั่วถึง
       5.เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้เวลาเหมาะสม ไม่นานหรือสั้นเกินไป
       6.ควรเป็นกิจกรรมที่มีหลายรูปแบบ
       7.ควรเป็นกิจกรรมที่ผู้สอนสามารถประเมินผลการปฏิบัติได้

       เงื่อนไขกำกับพฤติกรรมการเรียนที่สำคัญ ประกอบด้วย
       1. การทดสอบก่อนเรียน เป็นการสึกษาความรู้พื้นฐานและเตรียมความพร้อมของผู้เรียนด้วย อาจทำได้ด้วยการถาม การทดลองให้ปฏิบัติ ไปจนถึงการใช้แบบทดสอบ การทดสอบก่อนเรียนอาจจัดทำเมื่อเข้าสู่หน่วยการเรียนใหม่ไม่ควรจัดทำทุกครั้งที่สอนเสมอไป
       2.การใช้คำถามในระหว่างการเรียนการสอน การถามในระหว่างเรียนจะเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้เรียนให้มีความตั้งใจเรียน และเพื่อเป็นการประเมินการเรียนรู้ในระหว่างเรียนด้วยว่าผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายการเรียนเพียงใด
       3.การเสริมแรง ด้วยการให้กำลังใจแก่ผู้เรียน การเสริมแรงนอกจากจะส่งเสริมการเรียนรู้แล้วยังเป็นการเสริมบุคคลิกของผู้สอนอีกด้วย
       4. การทดสอบหลังเรียน จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ผู้เรียนตั้งใจเรียนมากขึ้น และผลการทดสอบจะป็นแนวทางสำหรับผุ้สอนในการปรับปรุงการเรียนการสอนด้วยเช่นกัน การทดสอบหลังเรียน อาจทำได้ตั้งแต่วิธีง่ายๆ เช่น การตรวจแบบฝึกหัด รายงาน การซักถามให้ทดลองปฏิบัติ เป็นต้น การทดสอบควรจัดทำให้ครอบคลุมจุดมุ่งหมายการเรียนการสอนที่กำหนดไว้