คำศัพท์ทางการศึกษา โดย ลวภา ทองอยู่เรือน - 19 มิ.ย. 2547 คำศัพท์ทางการศึกษา
ปัจจุบันมีคำศัพท์ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามากมายบางคำเราก็คุ้นเคยและเข้าใจเป็นอย่างดี บางคำก็เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ คำศัพท์บางคำเห็นแล้วก็คิดว่าจะมีความหมายเป็นไปอย่างชื่อที่ตั้งแต่ความหมายจะเป็นไปอย่างนั้นหรือไม่ เราจึงได้รวบรวมคำศัพท์ทางการศึกษามาพอประมาณเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ ซึ่งนำมาจากหนังสือศาสตร์การสอนของสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่งโดย ดร.ทิศนา แขมมณี ศาสตร์การสอน (Science of Teaching) หมายถึงความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้และการสอนที่สังคมโลกได้สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ซึ่งผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการช่วยให้ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามเป้าหมาย / จุดหมาย / วัตถุประสงค์ของการสอนที่กำหนด ความรู้ ดังกล่าวได้มาจากการคิด การวิเคราะห์ของนักปราชญ์ และนักคิดทั้งหลายหรือได้มาจากาการศึกษา ค้นคว้าพิสูจน์ทดสอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักจิตวิทยาและนักการศึกษาต่างๆ ข้อความดังกล่าวประกอบด้วย ปรัชญาการศึกษา บริบททางการสอน ทฤษฎี หลักการ แนวคิด ระบบ รูปแบบ วิธีการ เทคนิค และจิตวิทยาทางการเรียนรู้และการสอน การวางแผนและการออกแบบการจัดการเรียนการสอน การดำเนินการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล สื่อและเทคโนโลยีทางการสอน นวัตกรรมการวิจัยการเรียนการสอนเป็นต้น ศิลปะการสอน (Art of Teaching) หมายถึงความรู้และความสามารถในการนำจิตวิทยา วิธีการและเทคนิคต่างๆไปใช้ในการสอน เพื่อช่วยให้การสอนมีความน่าสนใจ สนุกมีชีวิตชีวา และช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ราบรื่นและมีความสุข บริบททางการสอน (Teaching Context) หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่เป้นทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ซึ่งมีความสัมพันธ์ / มีอิทธิพลต่อการสอน ทั้งในระดับจุลภาค (micro) ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้ตัวผู้เรียนผู้สอนมากที่สุด ไปจนระดับมหภาค (macro) ซึ่งเป็นระดับที่ไกลตัวผู้เรียนมากที่สุด เช่นสภาพทางจิตใจและความรู้ทางวิชาการของผู้สอน สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกตัวผู้เรียน สภาพห้องเรียน บรรยากาศผู้บริหาร การบริหารงาน บุคลากรในโรงเรียน สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ผู้ปกครอง บุคคลในชุมชน สภาพทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของชุมชน ทรัพยากรในชุมชน นโยบายและแผนการจัดการศึกษาระดับชาติ การบริหารการศึกษาระดับชาติ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าทางวิชาการของโลก เป็นต้น ปรัญชาการศึกษา (Educational Philosophy) หมายถึงความคิดหรือระบบของความคิด ที่เกี่ยวกับการศึกษา ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของปรัชญาแม่บทปรัชญาใดปรัชญาหนึ่ง ปรัชญาการศึกษาเป็นปรัชญาที่แตกหน่อมาจากปรัชญาทั่วไปอันเป็นปรัชญาที่ว่าด้วยความรู้ความจริงของชีวิต ปรัชญาการศึกษาเป็นความเชื่อ ความศรัทธา การเห็นคุณค่าในความคิดทางการศึกษาใดๆ ซึ่งผลักดันให้บุคคลคิดและกระทำการต่างๆ ในด้านการจัดการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับ ความเชื่อนั้นๆ ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning theory) หมายถึงข้อความรู้ที่พรรณา / อธิบาย / ทำนาย ปรากฏการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ ทดสอบตามกระบวนการทาง วิทยาศาสตร์ และได้รับการยอมรับว่าเชื่อถือได้ และสามารถนำไปนิรนัยเป็นหลักหรือกฎการเรียนรู้ย่อยๆ หรือนำไปใช้เป็นหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ ทฤษฎีโดยทั่วไปมักประกอบด้วยหลักการย่อยๆ หลายหลักการ หลักการเรียนรู้ (Learning Principle) หมายถึงข้อความรู้ย่อยๆ ที่พรรณา / อธิบาย / ทำนาย ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ ทดสอบ ตามกระบวนการทาง วิทยาศาสตร์ และได้รับการยอมรับว่าเชื่อถือได้ สามารถนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ หลักการเรียนรู้หลายๆ หลักการ อาจนำไปสู่การสร้างเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ได้ แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ (Teaching / Instruction Theory) คือความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ ที่พรรณา / อธิบาย / ทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่นักคิด นักจิตวิทยา หรือนักการศึกษาได้นำเสนอและได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งว่าเป็นแนวคิดที่น่าเชื่อถือด้วย เหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง ทฤษฎีการสอน (Teaching / Instruction Principle) คือ ข้อความรู้ที่ พรรณนา / อธิบาย / ทำนาย ปรากฏการณ์ต่างๆ ทางการสอน ที่ได้รับการพิสูจน์ ทดสอบ และการยอมรับว่าเชื่อถือได้ ซึ่งนักจิตวิทยา หรือนักการศึกษาอาจพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงมาจากทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ทฤษฎีการสอนหนึ่งๆ มักประกอบไปด้วยหลักการสอนย่อยๆ หลายหลักการ ![]() แนวคิดทางการสอน (Teaching / Instruction / Concept / Approach) คือ ความคิดที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนที่พรรณา / อธิบาย / ทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ ทางการสอนที่นักคิด นักจิตวิทยา หรือนักการศึกษา ได้นำเสนอ และได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งว่าเป็นแนวคิดที่น่าเชื่อถือด้วย เหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง ระบบการสอน / ระบบการเรียนการสอน (Teaching / Instruction / Model) คือแบบแผนการดำเนินการสอนที่ได้รับการจัดเป็นระบบ อย่างสัมพันธ์สอดคล้องกับทฤษฎี / หลักการเรียนรู้หรือการสอนที่รูปแบบนั้นยึดถือ และได้รับการพิสูจน์ ทดสอบว่ามีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายเฉพาะของรูปแบบนั้นๆ โดยทั่วไปแบบแผนการดำเนิน การสอนดังกล่าว มักประกอบด้วย ทฤษฎี / หลักการที่รูปแบบนั้นยึดถือและกระบวนการที่มีลักษณะเฉพาะอันจะนำผู้เรียนไปสู่จุดมุ่งหมายเฉพาะที่รูปแบบนั้นกำหนดซึ่งผู้สอนสามารถนำไปใช้เป็นแบบแผนหรือแบบอย่างในการจัดและดำเนินการสอนอื่นๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะเช่นเดียวกันได้ วิธีสอน คือ ขั้นตอนที่ผู้สอนดำเนินการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ด้วยวิธีการต่างๆ ที่แตกต่างกันไปตามองค์ประกอบและขั้นตอนสำคัญอันเป็นลักษณะเด่นหรือลักษณะเฉพาะที่ขาดไม่ได้ของวิธีนั้นๆ เช่น วิธีสอนโดยใช้การบรรยาย องค์ประกอบสำคัญของการบรรยาย คือ เนื้อหาสาระที่จะบรรยาย และการบรรยาย และขั้นตอนสำคัญคือ การเรียมเนื้อสาระ การบรรยาย (พูด บอก เล่า อธิบาย) และการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากการบรรยาย ดังนั้นวิธีสอนโดยใช้การบรรยาย ก็คือกระบวนการหรือขั้นตอนที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการเตรียมเนื้อหาสาระที่จะบรรยาย แล้วบรรยายก็คือพูด บอก เล่า อธิบาย เนื้อหาสาระหรือสิ่งที่ต้องการสอนแก่ผู้เรียนและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนวิธีใดวิธีหนึ่ง เทคนิคการสอน คือ กลวิธีต่างๆที่ใช้เสริมกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการ หรือการกระทำใดๆ เพื่อช่วยให้กระบวนการ ขั้นตอน วิธีการหรือการกระทำนั้นๆ มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นเทคนิคการสอนหรือดำเนินการสอนใดๆ เพื่อช่วยให้การสอนมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในการบรยาย ผู้สอนอาจใช้เทคนิคต่างๆ ที่สามารถช่วยให้การบรรยายมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การยกตัวอย่าง การใช้สื่อ การใช้คำถาม เป็นต้น ทักษะการสอน คือ ความสามารถในการปฎิบัติการสอนด้านต่างๆ อย่างชำนาญซึ่ง ครอบคลุมการวางแผนการเรียนการสอน การออกแบบการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอน การใช้วิธิสอน เทคนิคการสอน รูปแบบการเรียนการสอน ระบบการสอน สื่อการสอน การประเมินผลการเรียนการสอน รวมทั้งการใช้ทฤษฎีและหลักการเรียนรู้และการสอนต่างๆ นวัตกรรมการสอน คือสิ่งใหม่ที่ทำขึ้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ดังนั้น นวัตกรรมการสอนึงหมายถึงแนวคิด วิธีการ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งอาจเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดหรือใหม่เพียงบางส่วน หรืออาจเป้นสิ่งใหม่ในบริบทหนึ่งหรือช่วงเวลาหนึ่ง หรืออาจเป็นสิ่งใหม่ที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ทดสอบ หรือได้รับการยอมรับนำไปใช้แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายหรือเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานปกติ การวิจัยด้านการเรียนการสอน คือ การศึกษาหาคำตอบให้แก่ปัญหา หรือคำถามต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้คำตอบที่น่าเชื่อถือ ตัวแปร ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบสำคัญของการเรียนการสอน และผลผลิตของการเรียนการสอน ![]() การเรียนรู้สัญญาณ (Signal Learning) เป็นการเรียนรู้ลักษณะนิสัย หรืออารมณ์ การเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง (Stimulus-Response Learning)เป็นการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆของร่างกายต่อสิ่งเร้า เป็นการเน้นข้อต่อระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง โดยผู้เรียนเป็นผู้กระทำเอง การเรียนรู้การเชื่อมโยง (chaining) เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองติดต่อกัน เป็นการเรียนรู้ในด้านทักษะ การเชื่อมโยงทางภาษา (Verbal Association) เป็นการเชื่อมโยงความหมายทางภาษา โดยออกมาเป็นคำพูดแล้วจึงใช้ตัวอักษร การแยกประเภท (Multiple Discrimination Learning) เป็นความสามารถในการแยกสิ่งเร้าและตอบสนองสิ่งเร้าได้ ผู้เรียนเห็นความแตกต่างของสิ่งประเภทเดียวกัน การเรียนรู้ความคิดรวบยอด (Concept Learning) เป็นความสามารถที่ผู้เรียนมองเห็นลักษณะร่วมของสิ่งต่างๆ การเรียนรู้หลักการ (Principle Learning) เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากนำความคิดรวบยอดสองความคิดหรือมากกว่านั้นมาสัมพันธ์กัน แล้วสรุปตั้งเป็นกฎเกณฑ์ขึ้น การเรียนรู้จากการแก้ปัญหา (Problem-Solving Learning) การเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหา เกิดขึ้นจากที่ผู้เรียนนำหลักการที่มีประสบาการณ์มาก่อนมาใช้ในการปัญหา เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมและปัญหา นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Innovation and Technology) หมายถึง การระดมสรรพความรู้ที่มีเหตุผล มาประยุกต์ให้เป็นระบบใหม่ และสามารถนำมาใช้ปฏิบัติในสถานการณ์ที่เป็นจริง ในการแก้ปัญหาให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม การรู้ หมายถึง สภาวะของการรับรู้จากการสัมผัสและสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงรู้วิธีการ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ หมายถึง การปรับเปลี่ยนทัศนคติแนวคิดและพฤติกรรมอันเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์ ซึ่งควรเป็นการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น การศึกษา หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและ สังคมโดยการถ่ายทอด ความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทาง ฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การศึกษาตลอดชีวิต หมายถึง การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญญาและความต้องการของกลุ่มแต่ละกลุ่ม ![]() การเรียนรู้ในระบบ หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จ การศึกษาที่แน่นอน การเรียนรู้นอกระบบ หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่นใน การกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญญาและความต้องการของกลุ่มแต่ละกลุ่ม   การเรียนรู้ตามอัธยาศัย หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ ด้วยตนเองตามความสนใจ ความถนัด โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม ธรรมชาติ สื่อหรือแหล่งความรู้อื่นๆ ![]() |