วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

โดย กมลวรรณ สายปินตา  - 19 มิ.ย. 2547


"หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีดีงาม ลืมนามถิ่นบัวตอง"




      “เมื่อกล่าวถึง “หมอกสามฤดู และถิ่นบัวตอง” หลาย ๆ คน คงจะนึกออกว่าคำขวัญนี้กล่าวถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน และถ้าหากพูดถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกหลาย ๆคนก็จะนึกถึง “ชาวเขา” แต่ที่จริงแล้ว ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ไม่ได้มีแต่เพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น ยังมีชาวเขาอีกหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน ตาก พะเยา ฯลฯ คำว่า “ชาวเขา” หมายถึง ชาวเขาเผาต่าง ๆ ทุกเผ่า ทั้ง กะเหรี่ยง อีก้อ ลีซอ ละว้า เย้า ฯลฯ ที่มีวิถีการดำเนินชีวิตแตกต่างจากคนไทยของเรา


      
      “กะเหรี่ยง” เป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งที่มีวิถีการดำเนินชีวิตที่น่าสนใจเพราะทุกวันนี้มีจำนวนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกที เนื่องจากไม่นิยมคุมกำเนิด หรือคุมกำเนิดไม่ได้ผล ทำให้นิยมมีบุตรมากกว่า 2 คนขึ้นไป ถึงแม้รายได้ไม่เพียงพอสำหรับบุตรที่จะเกิดมา แต่เนื่องจากพวกเขามีวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ จึงดำรงอยู่ได้อย่างไม่อดอยาก ในขณะที่คนไทยปัจจุบันนิยมมีบุตรเพียงคนเดียว หรือบางทีอาจจะเลือกวิธีที่จะไม่มีบุตร เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีค่าครองชีพสูง

      การดำเนินชีวิตของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่แตกต่างจากคนไทยที่สามารถเห็นได้ชัดอีกอย่างคือประเพณีการแต่งงาน ที่ฝ่ายหญิงต้องเป็นฝ่ายไปสู่ขอรวมทั้ง จัดเตรียมจัดงานและทอชุดแต่งงานของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเพื่อใช้ในวันแต่งงาน เจ้าบ่าว เจ้าสาวจะใส่ชุดสีแดง ฝ่ายเจ้าสาวจะโพกผ้าบนหัวสีแดงหรือสีขาว พิธีการจัดงานแต่งงานจะจัดทั้งที่บ้านเจ้าสาวและเจ้าบ่าว ซึ่งต่างจากประเพณีการแต่งงานของคนไทยที่ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายไปสู่ขอและจัดเตรียมพิธีการแต่งงานทุกอย่าง

      อาหาร ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจะรับประทานข้าวจ้าวที่ปลูกบนภูเขาแล้วนำมาตำในครกก่อนนำไปต้มเพื่อทำอาหาร อาหารที่นิยมรับประทานเรียกว่า “ต่าโยเผาะ” (คนไทยเรียก “ข้าวเบ๊อะ”) มีลักษณะคล้ายข้าวต้มหรือแกงคั่วของคนไทย โดยจะมีส่วนผสมพวก หมู เนื้อ ไก่ และผักต่าง ๆ ตามโอกาส ลงไปในข้าวที่ต้มไว้ ปรุงรสด้วยเกลือ และพริกป่น รับประทานได้ทันทีโดยไม่ต้องมีกับข้าวอีก



      ส่วนที่อยู่อาศัยนิยม ปลูกบ้านไม้ชั้นเดียว ตัวบ้านทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก หลังคามุงด้วยหญ้าคา หรือใบตอง ส่วนใหญ่บ้านหนึ่งหลังจะมีเพียง 1 ห้องนอน ตรงกลางตัวบ้านมักจะมีเตาไฟไว้ เพื่อทำกับข้าว และอาศัยนอนเพื่อรับความอบอุ่นจากเตาไฟในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้ยังสร้างยุ้งฉางข้าวไว้มุมใดมุมหนึ่งของตัวบ้าน

      ภาษาพูดของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เรียกว่า “ภาษากะเหรี่ยง” คำพูดที่เรามักได้ยินหรือนิยมพูดกัน เช่น ออต๊ะ ซูหลอ = กินข้าวกับอะไร , อ่อเม = กินข้าว , อ่อที = กินน้ำ, หลู่ที = อาบน้ำ และแสดงความขอบคุณด้วยคำว่า ตะบรึ๊ และตะบรึ๊โด้มะ = ขอบคุณมาก ๆ ศาสนาที่นับถือส่วนใหญ่ คือ ศาสนาคริสต์ แต่บางส่วนที่อยู่บนภูเขาสูง ๆ จะนิยมการนับถือผี
      
      การแต่งกายชาวกะเหรี่ยงนิยมแต่งชุดสีต่างๆตามวัย เด็กๆจะแต่งชุดสีสดใส สีแดง สีฟ้า และวัยรุ่นนิยมคือชุดสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของหญิงสาวพรมจันทร์ วัยผู้ใหญ่ วัยชรานิยมแต่งชุดสีดำ เป็นต้น



      หมอกควัน ที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ซึ่งมีอากาศแห้งแล้งสาเหตุมาจากชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงทำการเผาป่า ถางป่า เพื่อทำไร่เลื่อนลอย การทำไร่เลื่อนลอย บนภูเขา ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง คนหนึ่งจะมีที่สำหรับทำไร่ คนละ 3 – 4 แห่ง เพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปลูกพืชจนครบ พืชที่นิยมปลูก ได้แก่ ข้าวไร่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯลฯ

      นอกจากนี้ยังมีอาชีพหนึ่งที่นิยมและสร้างรายได้ให้กับชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากก็คือการทำเครื่องเงินซึ่งช่างที่มีฝีมือจะสืบทอดเอกลักษณ์การทำลวดลายเครื่องเงินในแบบฉบับของตนและสืบทอดกันทางสายเลือดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง



      ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงเริ่มอพยพมาอยู่พื้นที่ราบจำนวนมาก เนื่องจากชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเป็นผู้ที่มีความอดทน และขยันขันแข็ง อดทน โดยไม่ได้จ้างคนงาน จากเดิมที่ถางป่าเพื่อทำไร่ แต่เมื่อเก็บเงินได้เพียงพอก็จะซื้อที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย จากคนไทยที่อยู่พื้นราบในขณะที่คนไทยต้องเป็นฝ่ายอพยพขึ้นไปอยู่บนภูเขาแทน

      จากวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่กล่าวมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป แต่ไม่ว่าจะเป็นชาวกะเหรี่ยง ชาวเขา ชาวเรา คนเราทุกคนนั้นต่างเกิดมาบนพื้นดินและโลกใบเดียวกัน เราทุกคนสามารถเป็นเพื่อน และเป็นมิตรกันได้ อีกทั้งอาจนำวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีๆ ที่เราแตกต่างกันมาลองปฏิบัติได้เช่น ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ นำเอาความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนไทยไปใช้ในชีวิตประจำวัน อาจจะทำให้มีเพื่อนมีมิตรที่ดีเพิ่มขึ้นอีกหลาย ๆ คน ส่วนคนไทยเองก็นำเอาความอดทน ความขยันขันแข็งของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมาเป็นแบบอย่างในการทำงาน นำเอาชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต อาจจะทำให้คนไทยอย่างเรามีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้อย่างมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม

ขอบคุณชาวเขาจริง ๆ
                  
“ตะบรึ๊ โด่มะ”