อยากรู้ความคิดเด็ก

โดย ยุวดี แปงสนิท  - 13 มิ.ย. 2547


หนูฝันอยากเป็น





      การจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2544 มาตรา 22 หลักการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ
      เด็กถือเป็นทรัพยากรของชาติที่สำคัญที่สุด เด็กจะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าถ้าหากได้รับการส่งเสริม เพิ่มพูนความรู้จากผู้ใหญ่ และจะกลายเป็นผู้ที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในอนาคต
      หากในความเป็นจริงในสังคมไทย เชื่อหรือไม่ว่ายังมีเด็กที่ด้อยโอกาสอยู่อีกมากที่ไม่ได้รับโอกาสและการส่งเสริมตามธรรมชาติและตามสภาพจริงของเขา อาจจะด้วยความพิการทางร่างกาย ทางสติปัญญา ซึ่งบ่อยครั้งที่เราเห็นว่าเขาไม่สามารถทำสิ่งต่างๆได้ทัดเทียมกับเด็กปกติในวัยเดียวกัน แต่เมื่อใดถ้าเราลองเปิดใจ เปิดโอกาสพร้อมส่งเสริมตามศักยภาพที่เขามี เด็กพิการด้อยโอกาสเหล่านี้จะมีความสามารถที่โดดเด่นขึ้นมาทดแทนสิ่งที่เขาหายไป อาทิ เด็กที่มีความพิการทางสายตา ก็ยังสามารถเล่นดนตรีไทยได้เป็นอย่างดี ยิ่งถ้าได้รับการสนับสนุนผลักดันแล้วความสามารถนั้นก็ยิ่งทวีคูณ

      ในบทสัมภาษณ์พิเศษนี้ ผู้เขียนได้รับรู้เรื่องราวของเด็กด้อยโอกาสคนหนึ่ง ที่สามารถแสดงศักยภาพในตนเองออกมาให้ผู้อื่นรับรู้จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ เป็นทุนการศึกษา 30,000 บาท ในโครงการ ONE BY ONE หนูฝันอยากเป็น.... และเป็นเด็กพิการคนเดียวของภาคเหนือที่ได้รับรางวัลอันน่าภาคภูมิใจนี้
      นั่นคือน้อง อนุวัฒน์ โยธา ปัจจุบันน้องกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนปงแสนทองวิทยา อ.เมือง จ.ลำปาง



      ผู้เขียนได้พูดคุยกับน้องอนุวัฒน์ ซึ่ง มองดู แล้วเขาเหมือนเด็กปกติธรรมดาทั่วไป แต่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้จริง พร้อมกับขนาดของร่างกายที่ดู เหมือนกับเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พร้อมทั้งสัมภาษณ์เรื่องราวกับคุณครูที่ได้มองเห็นความสามารถพิเศษของน้องอนุวัฒน์ จนเกิดแรงผลักดันอยากให้คนปกติได้เห็นความสามารถเชิงประจักษ์ของน้องอนุวัฒน์ คนนี้ นั่นคือ คุณครูสังวาล ชุนณวงษ์ ครูโรงเรียนบ้านหนองยาง ต.ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง คุณครูสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6และเป็นคุณครูประจำชั้นด้วย ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า น้องอนุวัฒน์เรียนชั้นประถมศึกษา 1-6 ที่โรงเรียนบ้านหนองยางขณะที่เขาได้เรียนในโรงเรียนแห่งนี้ จะมีลักษณะเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ช้า เรียนไม่เคยทันเพื่อน จนน้องขึ้นมาเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่4 ยิ่งเกิดปัญหาในการเรียนรู้วิชาทักษะ เมื่อนำน้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับสติปัญญา พบว่าน้อง เข้าข่ายเป็นผู้พิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ คือ IQ ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คณะครู และผู้ปกครองของน้องอนุวัฒน์คือคุณพ่อ ซึ่งเป็นพนักงานเก็บขยะของเทศบาลและคุณแม่ เมื่อได้รับรู้ความบกพร่องของเด็กก็ยิ่งพยายามหาความสามารถที่เขาถนัดและโดดเด่นให้ออกมามากที่สุดนั่นก็คือน้องอนุวัฒน์มีความสามารถพิเศษในตัวคือชอบการวาดรูป เวลาครูสอน เขามักจะวาดรูปประกอบ พร้อมทั้งสามารถอธิบายและบอกความหมายจากภาพที่วาดได้ เมื่อมูลนิธิแอมเวย์ได้จัด โครงการ ONE BY ONE หนูฝันอยากเป็น.... ของเด็กพิการทั่วประเทศขึ้นมา ทางโรงเรียนบ้านหนองยาง จึงได้ส่งภาพวาดของน้องอนุวัฒน์เข้าร่วมประกวดด้วย โดยน้องใช้ชื่อภาพว่า “คนทำความสะอาดบ้านเมือง” และเขียนเป็นความเรียงไม่เกิน 10 บรรทัดประกอบด้วย

      น้องอนุวัฒน์ ได้วาดภาพความฝันหนูอยากเป็น “คนทำความสะอาดบ้านเมือง” โดยเขียนบรรยายประกอบภาพด้วยว่า “ โตขึ้น ผมอยากเป็นคนทำความสะอาดบ้านเมือง เพราะเป็นอาชีพที่ไม่โกงใคร ไม่ต้องเรียนสูง ผมอยากเป็นอาชีพที่พ่อผมทำและเป็นอาชีพที่ผมรัก “




      จากผลงานกว่า 300 ภาพที่ส่งเข้าประกวดจากเด็กพิการทั่วประเทศอายุระหว่าง 8 – 15 ปี แบ่งความพิการเป็น 4 ประเภท คือ พิการทางสายตา พิการทางการเคลื่อนไหว พิการทางการได้ยินและพิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ การพิจารณาผลงานของคณะกรรมการกิตติมศักดิ์และผู้ทรงคุณวุฒิ ผลงานของน้องอนุวัฒน์ได้ผ่านการคัดเลือก ในข้อความที่ประทับใจคณะกรรมการทั้งหมดในข้อความที่ว่า “ เป็นอาชีพที่ไม่โกงใคร” และได้ไปสอบสัมภาษณ์ต่อที่โรงแรมอโนมา กรุงเทพมหานคร เมื่องวันที่ 12 ธันวาคม 2546 โดยคุณครู สังวาล และคณะครู โรงเรียนบ้านหนองยางเป็นผู้พาไป ผลการสอบสัมภาษณ์ คุณครูสังวาลเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า คณะกรรมการได้ตั้งคำถามกับน้องอนุวัฒน์ว่า “ ถ้ากวาดถนนแล้วไปพบเงินจะทำอย่างไร “ คำตอบที่ทำให้ทุกคนประทับใจในสติปัญญาของน้องก็คือ “ ถ้าผมพบเงิน ผมจะไม่เอาเป็นของตัวเอง จะสืบหาเจ้าของและเอาเงินไปคืน “ จากภาพที่ได้รับการคัดเลือกพร้อมกับการสัมภาษณ์ทำให้น้องอนุวัฒน์ได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคณะครู และตัวน้องอนุวัฒน์เป็นอย่างยิ่ง
สำหรับน้องอนุวัฒน์ในวันนี้ ถึงแม้ว่าน้องจะออกจากโรงเรียนบ้านหนองยางไปแล้วเพื่อไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น แต่เมื่อผู้เขียนถามเขาว่า" คิดถึงโรงเรียนเดิมหรือไม่" เขาตอบว่า "คิดถึงโรงเรียนเดิมเสมอเพราะมีเพื่อนพูดกันรู้เรื่องคุณครูใจดี ไม่ตีไม่ดุ และเรียนไม่ยาก คุณครูให้ขนมด้วย" เมื่อผู้เขียนถามถึงรางวัลที่เขาได้รับ เอาไปทำอะไร น้องตอบว่า "เอาไว้เป็นเงินเรียนให้ตัวเองและให้น้องชายซึ่งกำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่กำลังเรียนอยู่โรงเรียนบ้านหนองยาง" ผู้เขียนถามน้องอีกว่า" ทำไมถึงได้วาดภาพ คนกวาดถนน" เขาตอบเราว่า " เพราะเขาคิดว่า เขาน่าจะทำอาชีพนี้ได้ เพราะเขาเรียนไม่เก่ง และอาชีพนี้ทำให้บ้านเมืองสะอาดได้ด้วยครับ " จากการได้พูดคุยกับน้องคนนี้ทำให้เรานึกถึงคำพูดของนักบริหารทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่องหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า" ขอให้เราทำตัวเหมือนผ้าขี้ริ้ว เพราะเวลาโต๊ะ อุปกรณ์การทำงาน หรือสิ่งของอันใดเกิดความสกปรก เรามักจะเรียกหาผ้าขี้ริ้วเพื่อทำให้สิ่งเหล่านั้นสะอาด หากเราได้ทำตัวเป็นผ้าขี้ริ้วได้ทั้งหมด สังคมและประเทศก็จะสะอาด" เหมือนน้องอนุวัฒน์คนนี้ ความใฝ่ฝันของน้องผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าบุคคลในวัยเดียวกันอยากประกอบอาชีพที่ใครๆไม่ต้องการเป็น แต่ถ้าหากไม่มีอาชีพอย่างน้องคนนี้ สังคม หรือประเทศของเราจะสะอาดได้อย่างไร จากบทสัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า การศึกษาไทยในปัจจุบัน เรามุ่งเน้นให้เกิดคุณภาพกับตัวผู้เรียนขนาดไหน ระดับความฉลาดของสติปัญญา เหนือใคร หรือการแข่งขันในการเรียนรู้เพื่อสู่ความเป็นเลิศ หรือเพียงแค่ ได้เป็นเพียงผู้ที่มีความคิดดี ทำดี และรักสิ่งดีๆ ของน้องอนุวัฒน์ ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้ แต่เราเชื่อว่าเขาน่าจะเป็นคนดีของสังคมได้อย่างแน่นอน