ภูมิปัญญาท้องถิ่น

โดย ลักขณา เตชะหลอ  - 14 พ.ย. 2548


นศ. . . ป.โท

ภูมิปัญญาท้องถิ่น



ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้านสินทรัพย์ทางสมองของชาวบ้าน องค์ความรู้อันทรงคุณค่าอันเกิดจากปัญญาในการคิดที่หลากหลาย การฝึกฝนจนเกิดความรู้ความชำนาญในตัวบุคคล มากบ้าง น้อยบ้าง และอาจจะไม่เกิดขึ้นได้ง่ายนักในตัวบุคคลทุกคน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วกับบุคคลใด ผู้นั้นจะสามารถจัดการหรือมีวิธีการอย่างไรในการนำความคิด องค์ความรู้ ภูมิปัญญาของตน มาจัดระบบความคิดของตนจากนามธรรมให้เป็นรูปธรรมได้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม
       แต่ก่อน วิถีชีวิตของคนในชนบทแต่ละท้องถิ่น อาศัยอยู่กับธรรมชาติ ทุกคนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ดังเราจะได้ยินบทเพลงบทหนึ่งว่า “ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งสะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ทั้งบนบกและในน้ำ พืชพันธัญญาหาร ธรรมชาติที่แสนงดงามมีทั้งน้ำตก ภูเขาที่เต็มไปด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่านานาชนิด มีปลาหลากพันธุ์อาศัยอยู่กับ คู คลอง หนอง บึง มีอากาศที่บริสุทธิ์ การอยู่กับธรรมชาติยังสอนให้เรามีจิตใจที่อ่อนโยน เยือกเย็น สุขุม ฝึกสมาธิ มีสุนทรียภาพ อันเป็นรากฐานแห่งความดีงามในตัวมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนในครอบครัวมีความรัก ความผูกพันธุ์ ใกล้ชิดกันมาก ครอบครัวอยู่กันอย่างอบอุ่น มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่เห็นแก่ตัว รักครอบครัว รักธรรมชาติและท้องถิ่น ไม่ทำลายธรรมชาติ นำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ธรรมชาติจึงเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ให้เกิดภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่กับมนุษย์ ให้เรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างสงบสุข เกิดทักษะอาชีพขึ้นในแต่ละครอบครัว พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนแก่งแย่งอาชีพกัน โดยมีบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ เป็นต้นแบบในการทำมาหาเลี้ยงชีพในครอบครัว เป็นชีวิตที่อยู่กันอย่างเรียบง่าย การเรียนรู้กับธรรมชาติทำให้เกิดทักษะเกิดองค์ความรู้และภูมิปัญญา สร้างเอกลักษณ์ของตนเองซึ่งต้องใช้เวลาอันยาวนานในการฝึกฝนจนเกิดความรู้ความชำนาญ เป็นองค์ความรู้ ภูมิปัญญาซึ่งแต่ละครอบครัว ลูกหลานจะได้รับการสืบทอดต่อๆกันมา และภูมิปัญญาแต่ละครอบครัวไม่นิยมเผยแพร่ให้กับคนนอกตระกูล ดังเราจะเห็นตัวอย่าง เช่น ถ้าบรรพบุรุษเป็นช่างปั้น ลูกหลานก็จะสืบทอดงานปั้นต่อๆกันมา รวมทั้งช่างทอง ช่างทอ ช่างสาน ช่างแกะสลักฯ ซึ่งงานอาชีพเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกฝน บ่มเพาะ สะสม ความรู้ เพื่อให้เกิดทักษะความรู้ความชำนาญ
      ปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ เข้ามามีบทบาทมาก มีการใช้เครื่องมือต่างๆที่เกิดขึ้นมากมายเพื่อนำมาช่วยทุ่นแรงในการสร้างผลผลิตให้มีจำนวนมากขึ้น สร้างรายได้ให้เกิดผลเร็วๆ และประหยัดเวลา ทำให้คนส่วนใหญ่หันมานิยม เครื่องจักรต่างๆทำงานแทนคน เกิดเป็นอุตสาหกรรมต่างๆมากขึ้น จนปัจจุบันการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านได้มีการพัฒนาได้รวดเร็วและทันสมัยยิ่งขึ้น และในคอลัมน์นี้เราจะพาทุกท่านไปชมภูมิปัญญาท้องถิ่น ของชาวจังหวัดปางที่น่าสนใจทั้งชาวไทยและชาวเทศ เมื่อกล่าวถึงเมืองลำปางทุกคนต้องนึกถึงความเป็นเมืองเก่าในดินแดนล้านนาซึ่งมีไก่ขาวเป็นสัญลักษณ์ ความเป็นเมืองแห่งรถม้าและมีสินค้าหลากหลายที่ขึ้นชื่ออันเกิดจากองค์ความรู้และภูมิปัญญามากกว่าร้อยชนิด มีหลาย ประเภทสามารถทำรายได้ให้กับท้องถิ่น
ได้ปีละไม่น้อยและยังสามารถส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีงานทำ ไม่ทิ้งถิ่น ส่งเสริมรายได้ภายในครอบครัว



ที่น่าสนใจมากเป็นที่นิยมของคนทั่วไปทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดรวมทั้งเป็นสินค้าส่งออก อันได้แก่
เซรามิก ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษสา การแกะสลักไม้ การทอผ้า และสมุนไพรไทย

เซรามิก


นับเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญตัวหนึ่ง คู่เมืองลำปาง ด้วยเหตุที่สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จังหวัดลำปางอาจถือได้ว่า เป็นศูนย์กลางคมนาคมติดต่อได้สะดวกหลายเส้นทาง ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และทางเครื่องบิน และยังเป็น เมืองผ่านจังหวัด ที่สำคัญของภาคเหนืออีกทั้งยังมีแหล่งวัตถุดิบ ที่เอื้ออำนวย ต่อการผลิตเซรามิกมีคุณภาพ จากการพิสูจน์และวิเคราะห์ ได้พบว่าลำปางเป็นจังหวัดที่มีดินขาวมากที่สุด ของประเทศไทย และเป็นแร่ที่ทนความร้อนได้สูงมาก ให้เนื้อผลิตภัณฑ์เป็นสีขาว วัตถุดิบสำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ ดินเหนียวคุณภาพดี ก็มีมากที่ลำปาง เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ปัจจัยทางตลาดแรงงานลำปาง มีการจ้างงานที่ไม่สูง หรือราคา ต่ำเกินไป เป็นเหตุให้สินค้าเซรามิก สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ ได้ด้วยคุณภาพ:ซึ่งในจังหวัดลำปางมีโรงงานผลิตมากกว่า 300 โรงงานกระจายอยู่ทั้งในเมืองและอำเภอต่างๆรอบเมืองผลิตสินค้าหลากหลายชนิดสวยงาม เช่น ชุดอาหาร ถ้วยชาม ของตกแต่งบ้าน ของที่ระลึก ราคาย่อมเยาหาซื้อได้ง่ายทั้งที่โรงงานโดยตรงและตามร้านขายเซรามิกทั่วไปรอบเมือง และทุกปีทางจังหวัดได้จัดงานเซรามิกแฟร์ขึ้นในราวเดือนธันวาคมเพื่อส่งเสริมการขายสินค้าจากโรงงานต่างๆทุกโรงงานในจังหวัดให้ผู้สนใจได้เลือกสินค้าได้อย่างจุใจในราคากันเอง
">



ผลิตภํณฑ์กระดาษสา



เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติแต่ละท้องถิ่นนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มีความแตกต่างกันในคุณภาพและวัสดุที่นำมาผลิต จังหวัดลำปางมีหลายแห่งเช่น กระดาษสาที่ทำจากใยสับปะรดบ้านเสด็จ อำเภอเมือง กระดาษสาที่ทำมาจากมูลช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตรและกระดาษสาที่ทำมาจากปอสาดั้งเดิมบ้านท่าล้อ อำเภอห้างฉัตร ซึ่งเราอยากนำทุกท่านมาชมผลิตภัณฑ์อันสวยงาม น่ารัก เหล่านี้ ">

“ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา” ซึ่งผลิตภัณฑ์จากกระดาษสานี้จะผลิตกันที่บ้านท่าล้อ ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซึ่งในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านจะนิยมทำกระดาษสากัน เรียกได้ว่าทำกันตั้งแต่ในครัวเรือนจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เลยทีเดียว ชาวบ้านท่าล้อได้ผลิตกระดาษสามาเป็นเวลานานกว่า 100 ปีแล้ว “ คนชนบททางภาคเหนือของไทยรู้จักการนำเอาต้นสามาผลิตเป็นกระดาษนานมากแล้ว เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีกระดาษชนิดอื่นเหมือนอย่างในสมัยปัจจุบัน คนจึงนิยมใช้กระดาษสาอย่างแพร่หลาย โดยนำมาใช้เขียนหนังสือ ทำไส้เทียน โคมไฟ และทำตุง(ธง) เป็นต้น จึงทำให้การทำกระดาษสาเป็นอาชีพเสริมของผู้หญิงสมัยก่อนที่นิยมทำหลังฤดูทำนา โดยใช้กรรมวิธีง่ายๆและใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่น เช่นการต้มสาให้เปื่อยด้วยขี้เถ้า การใช้ค้อนหรือแท่นหินมาทุบสาให้ละเอียด เป็นต้น ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่ายกย่องและน่าอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง”
ปัจจุบันหมู่บ้านท่าล้อได้รับการจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง ทางกลุ่มของชาวบ้านจึงได้พัฒนารูปแบบธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งคือการนำเสนอการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยวทุกท่านได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนทำกระดาษสาและสาธิตการทำกระดาษสา ซึ่งในอนาคตอาจมีการบริการอื่นๆที่พัฒนาต่อไปอีกด้วย นับว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยอดเยี่ยมและน่าสนใจมากเลยทีเดียว      

ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ


      ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้าทอมือ แทบทุกชุมชนในจังหวัดลำปางนิยมทอผ้ากันเป็นอาชีพเสริม และการทอผ้ายังเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก ในบางหมู่บ้านยังมีการทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง โดยใช้ฝ้ายที่ปลูกขึ้นเอง เช่น บ้านหลวง อำเภอแม่ทะ บ้านทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน นอกจากนี้ยังมีที่อำเภอแจ้ห่ม และที่บ้านฝ้าย ตำบลพิชัย อำเภอเมือง ซึ่งมีโรงงานทอผ้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากฝ้ายทอมือ แต่ละท้องถิ่นแต่ละชุมชนก็จะมีความโดดเด่นของผ้าออกมาต่างกันและผ้าที่มีความโดดเด่นของจังหวัดลำปางก็คือ ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ และผ้าทอจากไหมประดิษฐ์ ซึ่งผ้าทั้ง 2 ชนิดนี้นอกจากจะทอเป็นผืนขายสำหรับนำไปตัดเย็บเป็นชุดแล้ว ชาวบ้านยังนิยมนำผ้ามาดัดแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้อีกด้วย เช่น นำไปทำกระเป๋า ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน เป็นต้น
กระบวนการผลิต ( ผ้าทอจากไหมประดิษฐ์ )
- นำเส้นด้ายไหมประดิษฐ์ มากรอใส่หลอดใหญ่ โดยใช้เครื่องกรอด้าย ด้วยมือ เพื่อจัดเส้นด้าย ยืนและให้ได้ความยาวตามที่ต้องการ
- นำเส้นด้ายที่ผ่านการปั่น มาเข้าเครื่องวนด้าย ด้วยมือ เพื่อกำหนดสีสันตาที่ตลาดต้องการ
- นำเส้นด้ายเข้าหวี (ฟืม) และนำเข้ากี่ ทอผ้า
- กรอหลอดด้ายเส้นพุ่ง ด้วยมือ และเลือกสีสันตามที่ตลาดต้องการ
- เริ่มการทอโดยต้องใช้ฝีมือและความชำนาญในการทอเพื่อจะได้ผ้าทอที่มีความแน่นของเนื้อผ้าสม่ำเสมอและลวดลายยกดอกที่สวยงาม
กระบวนการผลิตผ้า ( ฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ )
เตรียมฝ้าย เตรียมเปลือกไม้นำไปหมัดไว้ 1 คืน แล้วต้มเพื่อกรองสี เสร็จแล้วนำฝ้ายลงไปย้อมเพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการ แล้วนำมาผึ่งลมให้แห้งก่อนเข้าเครื่องกรอ และนำฝ้ายที่ย้อมสีแล้วเข้าเครื่องทอมือ กี่กระตุก
      

ผลิตภัณฑ์แกะสลักไม้




บ้านหลุก ตั้งอยู่ที่ ตำบลนาครัว อยู่ห่างที่ว่าการอำเภอแม่ทะไปประมาณ 2 กิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพแกะสลักไม้ ซึ่งไม้ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นไม้ฉำฉาและจามจุรี ผลิตภัณฑ์ที่แกะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า สิงโต กวาง ฯลฯ

ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมครอบครัวที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ซึ่งที่นี่มีประวัติการก่อตั้งยาวนานมากว่าสิบปีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ยังไม่มีประวัติที่แน่นอน แต่เมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้เริ่มมีการจัดตั้งให้เป็นกลุ่มขึ้น โดยนายจันดี แก้วชุ่ม มาได้ภรรยาเป็นคนบ้านหลุก อ.เมือง มีความรู้ทางด้านแกะสลักไม้ และได้เข้ามาสอนพวกชาวบ้าน จนมีความรู้ความชำนาญ โดยรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 50 กลุ่ม ทำการแกะสลักไม้ สภาพการรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านมี 1 กลุ่มใหญ่ โดยมีสาขาย่อยอีกจำนวน 40 กลุ่ม แต่ละกลุ่มย่อยจะมีประธานกลุ่มย่อยเป็นผู้บริหารกลุ่ม มีประธานกลุ่มใหญ่และกรรมการบริหารกลุ่มใหญ่อีก 1 คณะ ผลิตภัณฑ์จากการแกะสลักไม้ของชาวบ้านบ้านหลุกมีหลากหลายและสวยงามปัจจุบันได้มีชื่อเสียงไปถึงต่างประเทศ มีสินค้าส่งออกต่างประเทศมากมาย จนสร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านและจังหวัดลำปางเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าที่เรานำมาแนะนำให้ทุกท่านได้ชมกันไป แต่ละอย่างล้วนสวยงามและน่าทึ่งเป็นอย่างมาก แทบจะไม่เชื่อเลยว่าเป็นภูมิความรู้ของชาวบ้าน










ผลิตภัณฑ์สมุนไพร




      ลำปางรักษ์สมุนไพร ตั้งอยู่เลขที่ 177 บ้านเขลางค์ทอง ถนนคันเหมือง ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ผลิตสมุนไพรมากกว่า 100 ขนาน (ใช้พืชสมุนไพรมากกว่าร้อยชนิด มีพันธุ์พืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้หายากทุกชนิด ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2000,CODEX GMP/HACCP บริการอบไอน้ำสมุนไพร,แช่น้ำสมุนไพร ,นวดแผนไทย ,นวดประคบ, นวดน้ำมันสมุนไพร, พอกโคลนสมุนไพร, และขัดผิวด้วยสมุนไพร สินค้าปลอดสารพิษ สินค้าที่ผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการนุรักษ์ธรรมชาติจากกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ มีอาคารอบไอน้ำสมุนไพร สะอาดปลอดภัย อากาศดี ถูกสุขลักษณะ มีศาลานั่งพักผ่อนและทางเดินเพื่อสุขภาพ ร่มรื่นเย็นสบายด้วยพันธุ์ไม้สมุนไพรนับร้อยชนิดพร้อมติดป้ายบอกสรรพคุณใช้ในการศึกษาค้นคว้าเป็นอย่างดี มีสมุนไพรที่มีสรรพคุณแก้โรคต่างๆมากมายราคาไม่แพง หาซื้อได้ที่ศูนย์ นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์ประเภทครีมต่างๆและแชมพูที่มาจากสมุนไพรแทบทั้งสิ้น
เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าที่เรานำมาแนะนำให้ทุกท่านได้ชมกันไปทัง 3 อย่างแล้ว แต่ละอย่างล้วนสวยงามและน่าทึ่งเป็นอย่างมาก แทบจะไม่เชื่อเลยว่าเป็นภูมิความรู้ของชาวบ้าน ดังนั้นเราควรมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไร เราจึงจะสามารถนำเอาองค์ความรู้ ภูมิปัญญาอันเป็นสินทรัพย์ทางสมองของชาวบ้านอันทรงคุณค่าในอดีต มาเผยแพร่ผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคปัจจุบัน เพื่อให้ได้สิ่งที่มีคุณภาพ มีคุณค่า มีความเจริญทั้งทางด้านวัตถุและความเจริญงอกงามทางด้านจิตใจ ตระหนักเห็นคุณค่าของธรรมชาติและพื้นฐานขององค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ได้มา มองเห็นผลและประโยชน์ในระยะเวลาที่ยาวไกล เป็นภูมิปัญญาที่เลอล้ำค่ายิ่งสืบไป